xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฎฐ์”โพสต์ FB ซัด“หมอวรงค์”พูดมั่วเปลี่ยนอุดมการณ์ ปชป.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า วันนี้ คุณหมอวรงค์ พูดหลายเรื่อง ไปไกลถึงขนาดจะเปลี่ยนอุดมการณ์ของพรรค ถ้าผมไม่ออกมาชี้แจง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คงมาเขกกบาลผมเป็นแน่แท้ จึงขอชี้แจงพอสังเขป ในฐานะคนรักชอบกัน

- เรื่องนโยบายสวัสดิการ: ความจริงเรื่องนี้ในระยะหลังท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ เป็นคนพูดเรื่องนี้บ่อยมาก ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนท่านจะใช้คำว่า“สังคมสวัสดิการ”เพราะจะพูดว่า “รัฐสวัสดิการ”ยังไม่ได้ เพราะหากใช้คำว่ารัฐต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ท่านหัวหน้าจึงใช้คำว่า”ประชาธิปัตย์กำลังสร้างสังคมสวัสดิการ”

- พรรคประชาธิปัตย์ก็ยึดนโยบาย”สังคมสวัสดิการ”มาตลอดในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น นโยบายเบี้ยยังชีพสูงอายุ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยท่านชวน หลีกภัย,สวัสดิการผู้ใช้แรงงาน, นโยบายเรียนฟรี ,นโยบายด้านสุขภาพ นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราทำแล้วและจะทำต่อไปในอีกหลายเรื่องด้วย

- การที่หมอวรงค์ ออกมาพูดเรื่องนี้ อาจทำให้คนเข้าใจผิดในนโยบายของพรรคในเรื่องสวัสดิการสังคม ผมว่าพรรคเราทำเยอะกว่าพรรคอื่นเสียอีก ส่วนใครจะเพิ่มนโยบายเรื่องใดเข้าไปเป็นสวัสดิการอีกนั่นก็ว่ากันไป ประการสำคัญ

- พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย เน้นการให้ความเคารพในเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งที่เที่ยงตรง การเคารพสิทธิมนุษยชนความเท่าเทียมใช้หลักนิติธรรม ถ่วงดุลย์อำนาจ โปร่งใสและตรวจสอบได้

- การเปลี่ยนอุดมการณ์ไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือ ความอ่อนประสบการณ์ เช่น ระบอบประชาธิปไตยสวัสดิการ หรืออะไรทำนองนั้น จะค่อยๆกัดกร่อนความเข้มแข็งทางอุดมการณ์ของพรรคลง ผู้ที่จะเป็นผู้นำพรรคจึงต้องเข้าใจถึงแก่นของเรื่องนี้ คำว่า"สวัสดิการ" มิใช่เรื่องของ"ระบอบการปกครอง" แต่เป็นเรื่อง"นโยบาย" ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็มีสวัสดิการ ระบอบเผด็จการก็มีสวัสดิการ ระบอบประชาธิปไตยก็มีสวัสดิการ

- ประการสำคัญ การทำให้สังคมกลายเป็น"รวยกระจุก จนกระจาย" เป็นเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือ เศรษฐกิจเสรีนิยมมากกว่า ไม่ใช่ระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยหรอก

- ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่าง ระบอบการปกครอง กับ ระบอบเศรษฐกิจเราก็มั่วไปได้ทุกวันแหละ พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาก็อาจโวยวายว่า เราจะเปลี่ยนอุดมการณ์เป็น"เผด็จการสวัสดิการ" ก็ยุ่งเลย

- เรื่องความนิยมของหัวหน้าพรรค ผมก็ดูว่า ความนิยมของพรรคมิได้ลดลง คะแนนเราก็เพิ่มขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง เพียงแต่เรายังไม่แรงพอที่จะเอาชนะได้ ก็ต้องเข้าใจว่าเรากำลังสู้อยู่กับอะไร ขนาดเราไม่มี ม.44 อยู่ในมือ เราสู้ได้ขนาดนี้ แล้วคนที่เขามี ม.44 อยู่ในมือ เอาเข้าจริงๆ เขาก็ยังทำไม่ได้เท่าเราเลยนะ

- เรื่องการเปลี่ยน ส.ส.เพื่อเอาคนใหม่มาสมัครแทนคนเก่า พรรคก็ทำมาตลอด เราทำยิ่งกว่าการทำไพรมารี่เสียอีกเพราะการทำไพรมารี่เป็นการทำเฉพาะในสมาชิกของพรรค แต่เราทำถึงขนาดจ้างมหาวิทยาลัยมาทำโพลล์สำรวจความนิยมของผู้สมัครเลยนะครับ เราไปไกลกว่านั้นแล้วครับ

*ทำคลอดเชื่อหมอวรงค์ การเมืองเชื่อผม!!!