xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.มั่นใจ 3 นิคมฯ กรุงเก่าไม่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานปฎิบัติการ 1) ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เพื่อติดตามความพร้อมและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการเกิดอุทกภัยของ 3 นิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา คือ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยสูง ซึ่งปีนี้ทั้ง 3 นิคมฯ ไม่น่าห่วงว่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนปี 2554 โดยขณะนี้ระดับน้ำและปริมาณน้ำไหลผ่านยังอยู่ในระดับปกติ

สำหรับนิคมฯ สหรัตนนคร ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหกยังอยู่ในระดับปกติ ระดับน้ำอยู่ในระดับ +2 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) ซึ่งนิคมฯ ได้สร้างแนวคันดินแบบผสมผสานระดับของคันดินอยู่ที่ +7.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมความยาวเขื่อน 7 กิโลเมตร ล่าสุด ปีนี้นิคมฯ สหรัตนนครมีการขุดลอกคลองระบายน้ำฝนและรางระบายน้ำฝน ภายในนิคมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน กนอ.ยังเตรียมมาตรการป้องกันอุทกภัย อาทิ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การรายงานจากศูนย์เตือนภัย รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกแห่งเตรียมการไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ กนอ.จะรายงานสถานการณ์ประจำวันและจัดเตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุทกภัย นอกจากนี้ กนอ.ยังมีการประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ และร่วมมือกับกรมชลประทานให้ข้อมูลแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม

ส่วนนิคมฯ บางปะอิน มีการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามตรวจสอบระดับน้ำและปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน โดยตรวจเช็กระดับน้ำบริเวณจุดวัดระดับน้ำด้านนอกนิคมฯ ที่กำหนดเป็นจุดเฝ้าระวัง 3 จุด ได้แก่ จุดวัดระดับน้ำหน้าอำเภอบางปะอิน (หลังเก่า) ประตูน้ำคลองจิก และประตูน้ำคลองเปรมประชากร โดยความสูงของคันดินนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินอยู่ที่ระดับ +4.40 เมตร ระดับสูงสุดของเขื่อนอยู่ที่ระดับ +6.00 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมระยะทางของคันดินกว่า 10 กิโลเมตร อีกทั้งรูปแบบเขื่อนยังเป็นเขื่อนดินบดอัดแน่นพร้อมผนังคอนกรีตเสริมความลาดเอียงของคันดิน ป้องกันการซึมและการกัดเซาะของน้ำด้วยแผ่น Geotextile โดยเริ่มติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเกณฑ์เฝ้าระวังพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เตรียมสถานีสูบน้ำไว้ 4 สถานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 18 เครื่อง ความสามารถการสูบเท่ากับ 32,400 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งมีการติดตั้งปั๊มสูบน้ำสำรองอีก 3 เครื่อง ขนาด 600 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสถานีสูบมีการติดตั้งและตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน ขนาด 450, 500 และ 800 KVA ที่ติดตั้งไว้ทุกสถานีพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง

นอกจากนี้ นิคมฯ บางปะอิน ยังตั้งศูนย์ควบคุมภาวะฉุกเฉินและศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และรายงานสถานการณ์ทุกวันต่อศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. โดยนิคมฯ ได้สื่อสารให้ผู้ประกอบการภายในทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุทกภัยเป็นประจำทุกวัน โดยแจ้งข่าวสารให้ทราบผ่าน www.bldc.co.th แบบเรียลไทม์

ขณะที่นิคมฯ บ้านหว้าได้จัดระบบติดตามสถานการณ์น้ำ ระบบระวังน้ำภายนอก และระบบแจ้งเตือนภัย โดยได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก รายงานสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา น้ำทะเลหนุนจากกรมอุทกศาสตร์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำประจำวันจากชลประทานพระนครศรีอยุธยา พบว่าเกณฑ์การเฝ้าระวังทั้งหมดยังอยู่ในระดับปกติ

ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมฯ บ้านหว้าเมื่อปี 2554 ได้มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมตามเกณฑ์การออกแบบที่ กนอ.ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตรกำหนด โดยความสูงของคันดินอยู่ที่ระดับ +5.40 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รอบพื้นที่โครงการมีสันคันกว้าง 2.50 เมตร และฐานกว้าง 10.60 เมตร รวมระยะทางของคันดินกว่า 11 กิโลเมตร รวมถึงเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยเครื่องสูบน้ำแบบ Submersible pump 5 เครื่อง อัตราสูบ 10,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมความสามารถสูบ 54,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ใช้น้ำมันดีเซลรองรับ