xs
xsm
sm
md
lg

อย.แจงใช้พลาสเตอร์ปิดตามอวัยวะ แก้เมารถ/เมาเรือ ไม่เป็นความจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงกรณีบนโลกโซเชียลมีการแชร์ข้อมูลหลากหลายวิธีเพื่อแก้อาการเมารถ เมาเรือ โดยมีวิธีหนึ่งที่ส่งต่อกันจนหลายคนเริ่มสับสนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ คือการนำพลาสเตอร์ปิดแผลมาปิดตามอวัยวะต่างๆ เช่น สะดือ ใต้สะดือ หลังหู ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าการนำพลาสเตอร์ปิดแผลไปติดตรงไหนก็ตาม ไม่สามารถช่วยลดอาการเมารถ/เมาเรือได้

ทั้งนี้ อาการเมารถ เมาเรือ หรือที่บางคนคิดว่าเมาคลื่นนั้น เกิดจากการที่ระบบประสาทการทรงตัวมีการทำงานที่ไม่สมดุล ซึ่งความไม่สมดุลนี้อาจเกิดจากระบบประสาทการทรงตัวมีการทำงานที่ไวขึ้นกว่าปกติ หรือเกิดจากการที่ได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป เช่น นั่งรถที่เหวี่ยงนานๆ หรือนั่งเรือที่โคลงเคลง โต้คลื่นเป็นเวลานาน

สำหรับการป้องกันการเมารถหรือเมาเรือเบื้องต้นนั้น สามารถทำได้โดย อย่าปล่อยให้ท้องว่าง เพราะหากท้องว่างจะยิ่งเมารถหรือเมาเรือเร็วขึ้น ควรรับประทานอาหารตามปกติ และเว้นระยะพักประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง หากเดินทางด้วยรถ พยายามนั่งที่นั่งตรงหน้ารถ ข้างๆ เบาะคนขับ จะทำให้เมาช้าลง หากเดินทางด้วยเรือ พยายามนั่งบริเวณกลางลำเรือ เพราะจะได้รู้สึกโคลงเคลงน้อยที่สุด หรือรับประทานยาแก้เมารถ (Diphenhydramine) 1 เม็ด ก่อนออกเดินทางครึ่งชั่วโมง แต่ยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม