xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์เฝ้าระวังภาวะจิตใจ"ทีมหมูป่า"ต่อ หวั่นพายุข้อมูลบั่นทอนจิตใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



วันนี้ (4 ส.ค.) 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิต จัดเสวนาถอดบทเรียนสุขภาพจากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวง โดย มีนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต นายแพทย์โรม บัวทอง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พลตรีนายแพทย์ วุฒิไชย อิศระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพลอากาศตรี นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ร่วมเป็นวิทยากรถอดบทเรียนสุขภาพจากการลงพื้นที่ทำข่าวกรณีถ้ำหลวง

นายแพทย์สมัย กล่าวว่า เรื่องของสภาพจิตใจทีมหมูป่า ได้มีการติดตามอย่างเข้มข้น โดยจะให้ทำอะไรเป็นกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ ไม่แยกกลุ่ม เช่น บวชเป็นกลุ่ม และจะติดตามอย่างเข้มข้นในช่วง 3 เดือนแรก 6 เดือน หรือ 1 ปี จึงค่อยผ่อนลง จากนั้นจะค่อยๆ ถอดบทเรียนจากเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะวิธีแปลงกระบวนการกลุ่ม ความเหนียวแน่น ความรักสามัคคีกันในกลุ่มแปลงอย่างไรให้เป็นพลัง เพราะภาพแรกที่ปรากฏออกมา จะเห็นความน่ารักของเด็กๆ ความอ่อนน้อม การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สิ่งเหล่านี้ต้องถอดบทเรียนเพื่อเป็นประโยชน์กับเด็กคนอื่นๆ ในสังคม

ส่วนการนำเสนอข่าว และการติดตามข่าวการช่วยเหลือทีมหมูป่าของสื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ความช่วยเหลือหลั่งไหลมาจากทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบด้านจิตใจกับผู้ที่ติดตามข่าวหรือเสพสื่อมากเกินไป หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองที่เสพสื่อมากเกินไปจนเครียด นอนไม่หลับ แม้เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่อาจเกิดอาการบาดแผลทางจิตใจ นอนไม่หลับ จิตใจหวาดผวา จนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ รวมถึงสื่อเองด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีใครประสบปัญหาทางสภาพจิตใจ แต่ที่น่าห่วงมากที่สุด คือกลุ่มหมูป่า เพราะเมื่อออกมาจากถ้ำ เด็กๆ จะได้รับข้อมูล หรือพายุข้อมูล ที่อาจทำให้รู้สึกผิด บั่นทอนจิตใจ ซึ่งกระบวนการดูแลในระยะยาวคือการเกื้อหนุนกลุ่มเขาให้คงอยู่

ขณะที่พลตรีนายแพทย์ วุฒิไชย อิศระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวว่า ภาพแรกที่เห็นเด็กออกมา จะเห็นว่าเด็กไม่ได้ร้องไห้หรือตกใจ แต่ตนได้เข้าไปคุยกับโค้ชและเด็กๆ หลังจากมีสภาพจิตใจแข็งแรงขึ้นแล้ว บอกว่า 3-4 วันแรก อาจร้องไห้ แต่ถึงวันที่ 9 มีแต่พลังบวก ช่วยกันวางแผนหาทางออกจาถ้ำ ช่วงที่อยู่ภายในถ้ำมีการแบ่งปันไฟฉาย มีนาฬิกา 1 เรือน ไว้บอกเวลาเช้า-ค่ำ ถึงเวลานอน อุณภูมิในถ้ำ 20-23 องศาฯ ในน้ำ 15 องศาฯ หนาวมาก เด็กๆ ใช้วิธีนอนกอดกัน สลับหัวท้าย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จะเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา แต่จากนี้ไปต้องพยายามไม่รื้อฟื้นถึงวิธีการนำตัวพวกเขาออกมาจากถ้ำ พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนทั่วโลกได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการช่วยเหลือ การเอาตัวรอดในถ้ำ ถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครได้เจอมาก่อน

ทางด้านนายแพทย์โรม บัวทอง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การอยู่ในถ้ำเป็นพื้นที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย มีทั้งเชื้อจากสัตว์ฟันแทะต่างๆ เช่น หนู เชื้อโปโตซัว จากริ้นฝอยทราย ซึ่งจะไม่แสดงอาการเฉียบพลัน แต่จะค่อยๆ แสดงอาการในระยะ 3 เดือน 6 เดือน และเชื้อแบคทีเรียที่มาจากดิน น้ำ โคลน ซึ่งเมื่ออกมาจากพื้นที่ ทุกคนต้องตรวจร่างกายเพื่อเฝ้าระวังโรค


กำลังโหลดความคิดเห็น