วันนี้ (2 ส.ค.) ที่สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีการประชุมหน่วยงานที่จัดส่งข้อมูลของนักเรียนเพื่อเข้าสู่ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส (TCAS) 2562 โดยมี น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศ. น.พ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน ทปอ. รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 และ ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วม
น.พ.ธีระเกียรติ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ทปอ.ได้ถอดบทเรียนการดำเนินการทีแคสในปีการศึกษา 2561 ซึ่งขณะนี้ ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกับประเด็นปัญหา และแนวทางในการดำเนินการทีแคส ปีการศึกษา 2562 แล้ว โดยจะยังคงยึดตามปรัชญาทีแคส คือ การลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระของผู้ปกครอง นักเรียน และให้นักเรียนต้องเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตลอดหลักสูตร ส่วนกระทรวงศึกษาธิการจะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล Big Data ของนักเรียนที่จะจบในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า พร้อมจัดส่งข้อมูลไปยังระดับอุดมศึกษา โดยการรวบรวมข้อมูลจะต้องไม่เป็นภาระของโรงเรียน และจะพัฒนาข้อมูลของเด็ก ม.6 หรือเทียบเท่าด้วย
เบื้องต้นคาดว่าจะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลผลการสอบทดสอบที่จัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ข้อมูลผลการสอบอื่นๆ และข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน เป็นต้น โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานประสานงานกับสังกัดอื่นๆ
ศ. น.พ.อุดม กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของ ทปอ.เกี่ยวกับทีแคส 62 ได้สรุปว่า ทีแคสเป็นระบบที่ดีในการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปัญหาที่ผ่านมาเป็นข้อบกพร่องทางเทคนิคที่เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 20 ของระบบทั้งหมด ขณะที่กระแสโซเซียลมีเดียที่เกิดขึ้น ทำให้ดูเหมือนทีแคสมีปัญหามากมาย ซึ่งขณะนี้ ทปอ.ได้มีการปิดช่องว่างต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทีแคสเป็นระบบที่ตอบโจทย์เด็กให้ได้เลือกตามความต้องการ และตอบโจทย์มหาวิทยาลัยในการคัดเลือกเด็ก
ส่วนข้อสอบต้องมีการปรับข้อมูลให้มีความชัดเจนว่าต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต และของประเทศที่มุ่งขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรม ดังนั้น สิ่งที่ ทปอ.ดำเนินการ คือ ข้อสอบต้องเน้นเรื่องการวัดความถนัดและสมรรถนะของเด็ก เพราะในอนาคตวิชาการอาจไม่ได้สำคัญที่สุด อีกทั้งจากการวิเคราะห์ข้อสอบแกต-แพต (GAT-PAT) ต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์ที่ต้องการทั้งหมด
ทั้งนี้ ทปอ.ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีการรองรับทางกฎหมาย เป็นเหมือนอาสาสมัครมาทำงาน ซึ่งน่าเห็นใจ ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดใหม่ ต้องเอากระบวนการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยมาเป็นหนึ่งในหน่วยงานถาวรของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพราะทปอ.ต้องรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ และเรื่องการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะกระทรวงศึกษาเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นๆ และต้องเชื่อมโยงผลลัพธ์ผลผลิตที่ต้องการ ด้วย
ทางด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2562 ทีแคสจะยังคงไว้ 5 รอบ คือ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รอบที่ 2 โควตา โครงการพิเศษต่างๆ รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน รอบที่ 4 การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชัน และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ โดยรอบที่ 3 จะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เบื้องต้นให้เลือก 6 อันดับ เรียงตามคะแนน ส่วนกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท) ยังคงอยู่ในรอบที่ 3 และมีสิทธิเลือก 6 อันดับเช่นเดียวกับเด็กกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ จะมีการลดระยะเวลาในการสมัครจากเดิม ใช้เวลาประมาณ 10 เดือน เหลือเพียง 6 เดือนครึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทปอ.เป็นเพียงการรวมตัวของกลุ่มมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยง ร่วมมือในการดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจจะปรับเปลี่ยน หรือดำเนินการอะไรได้ทันทีอย่างไรก็ตาม ทปอ.จะแถลงข่าวเกี่ยวกับระบบทีแคส 2562 ให้นักเรียนได้รับทราบต่อไป