xs
xsm
sm
md
lg

กรมฝนหลวงฯ เร่งทำฝนเทียมช่วยพื้นที่นาข้าว 4 จังหวัดอีสานใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุบลราชธานี ภายในกองบิน 21 ซึ่งได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนสถานที่ภายในกองบิน 21 และอากาศยานทำฝน ชนิด BT-67 จำนวน 1 ลำ จากกองทัพอากาศมาร่วมปฏิบัติการกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง และได้ปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วรวม 12 วัน จำนวน 15 เที่ยวบิน มีฝนตกจากการปฏิบัติการ 9 วัน

จากการลงพื้นที่และติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่ามีพื้นที่ร้องขอรับบริการฝนหลวงในหลายแห่ง อาทิ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่การเกษตรตอนล่างของ จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ อ.ศิลาลาด อ.ราษีไศล อ.เมือง อ.พยุห์ อ.อุทุมพรพิสัย อ.ยางชุมน้อย อ.กันทรารมย์ อ.ขุขันธ์ อ.ภูสิงห์ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ พื้นที่ จ.ยโสธร ได้แก่ อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง อ.คำเขื่อนแก้ว และพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ได้แก่ อ.ลืออำนาจ โดยสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิยังมีการร้องขอฝนในพื้นที่บางส่วนของ จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ อ.อุทุมพรพิสัย อ.เมือง อ.กันทรารมย์ อ.วังหิน อ.พยุห์ อ.ขุขันธ์ และ อ.กันทรลักษณ์ ซึ่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอุบลราชธานี จะวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

สำหรับอุปสรรคที่พบในการปฏิบัติการฝนหลวงจะเผชิญกับสภาพอากาศที่มีลมค่อนข้างแรง อีกทั้งยังมีเมฆชั้นกลางปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เป็นการยากต่อการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกพื้นที่ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมาย พร้อมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรตามการร้องขออย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยจะปฏิบัติการทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย และจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยว

ทางด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่า เกิดฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ส่งผลให้แม่น้ำมูลที่ไหลผ่าน ต.ท่าม่วง อ.สตึก มีสภาพตื้นเขิน บางช่วงเห็นเนินทรายโผล่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในพื้นที่ ต.ท่าม่วง ต้องหยุดเดินเครื่อง เนื่องจากสูบไม่ได้ ทำให้ต้นข้าวขาดน้ำหล่อเลี้ยงเริ่มเหี่ยวเฉาแล้วกว่า 3,000 ไร่ อีกทั้งยังกระทบต่อน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปาในเขตของอบต.ท่าม่วงด้วย ทั้งนี้ บริเวณที่ประสบปัญหาอยู่ในพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำมูล ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ อยู่ห่างจากฝายยางบ้านกุดชุมแสง ต.ยะวึก อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน ไปทางท้ายน้ำประมาณ 40 กิโลเมตร และอยู่เหนือจุดที่ตั้งฝายยางบ้านตะลุง อ.ชุมพลบุรี ประมาณ 40 กิโลเมตรเช่นกัน

พร้อมกันนี้ จากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าพื้นที่นี้มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 5 สถานี ปัจจุบันระดับน้ำในแม่มูลที่ไหลผ่านทั้ง 5 สถานี ยังสามารถสูบน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ตามปกติ แต่หากเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงอีกในระยะต่อไป มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ จึงได้ดำเนินการแก้ไขในระยะเร่งด่วน ด้วยการประสานขอความช่วยเหลือไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อเร่งจัดทำฝนหลวงในพื้นที่โดยด่วนแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำการบริหารจัดการน้ำ โดยไม่สูบน้ำพร้อมกันทั้ง 5 เครื่อง และให้มีการจัดรอบเวรการสูบน้ำของแต่ละสถานี เพื่อป้องกันระดับน้ำไม่ให้ต่ำกว่าระดับหัวกระโหลกเครื่องสูบน้ำ สำหรับในระยะกลาง มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำบ้านท่าม่วง ในเขต ต.ท่าม่วง อ.สตึก โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด โดยจะก่อสร้างในปี 2562-2563 ทั้งนี้ หากดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี


กำลังโหลดความคิดเห็น