นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากที่ได้ติดตามข่าวการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวง จนขณะนี้น้องๆ ทั้งหมดกำลังจะได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว รู้สึกเป็นห่วงถึงสภาพจิตใจหลังจากออกจากโรงพยาบาลและจะมีสื่อมวลชนต่างๆ รุมสัมภาษณ์ ซึ่งตนเคยพูดมาตลอดว่า ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ห้ามเผยแพร่รูปภาพหรือสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่จะกระทบจิตใจ กระทบทางกาย ถือเป็นการละเมิดโดยเจตนา ถือว่ามีความผิด โดยเฉพาะด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีนั้นอยู่ในความอุปการะของบิดามารดา ผู้ปกครอง เมื่อสื่อไปสัมภาษณ์โดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วยและใช้คำถามที่อาจมีผลกระทบทางจิตใจหรือไปเปิดบาดแผล อาจส่งผลให้มีความผิดในมาตรานี้ได้ เพราะมีเจตนา หรือเรียกว่ารู้อยู่แล้วว่าเด็กอยู่ในภาวะทุกข์ยากลำบาก แต่ยังใช้คำสัมภาษณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจไปเปิดบาดแผลทางจิตใจของเด็กๆ เทียบได้กับกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งเมื่อมีการสอบพยานจะต้องมีนักจิตวิทยามาร่วมด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นห่วงคือการถามคำถามบางอย่างที่ไม่ระมัดระวัง หรือเป็นคำถามที่ชักจูงให้เด็กมีความประพฤติเสียหาย หรือเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ เช่น ถามว่าถ้าแข็งแรงแล้วช่วยพาพี่ไปเที่ยวถ้ำหลวงได้ไหม ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นการจูงใจให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมเสียหายหรือเสี่ยงต่อการกระทำความผิด มีความผิดตามมาตรา 26 (3) มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสื่อต้องระมัดระวังให้มาก
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีการรวมเด็กออกมาให้สัมภาษณ์ในคราวเดียว ซึ่งการสัมภาษณ์ควรต้องมีนักจิตวิทยามาช่วยกลั่นกรองคำถาม และไม่ควรเป็นคำถามซ้ำๆ เพราะการถามซ้ำจะตอกย้ำบาดแผลในจิตใจเหมือนกับการสอบปากคำในคดีข่มขืน ที่ต้องสอบในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล ในคำถามซ้ำๆ เดิมๆ เท่ากับถูกข่มขืนใหม่อีก 3 รอบ ซึ่งสื่อต้องให้ความระมัดระวัง ที่สำคัญการใช้กฎหมายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือความสำนึกร่วมกัน รับรู้ร่วมกันว่าจะต้องปกป้องคุ้มครองพวกเขาในฐานะที่เป็นเด็ก เป็นกลุ่มที่เปราะบาง ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นกรณีพิเศษและต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จะดีที่สุด
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัว หากมีโอกาสเหมาะสมและไม่รบกวนจนเกินไป จะขอเข้าไปกอดโค้ชเอก เพื่อให้กำลังใจ และขอให้รู้ว่าสิ่งที่โค้ชเอกทำมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเด็กๆ และวงการแพทย์ โดยเฉพาะการให้เด็กนั่งสมาธิและดูแลเด็กๆ ให้ใช้ชีวิตในถ้ำในสภาพร่างกายแข็งแรง และขอให้ยืนหยัดในสิ่งที่ทำต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นต้นแบบที่ดีให้น้องๆ เยาวชนต่อไป