ด้านนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ผลบวกจากปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวสูงยังเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกไทยให้เติบโตในระดับสูง จึงปรับประมาณการส่งออกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากเดิมคาดโตร้อยละ 4.5 หลังจากการส่งออก 5 เดือนแรกโตเฉลี่ยร้อยละ 11.6 โดยเกือบครึ่งหนึ่งมาจากการส่งออกยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังมีแนวโน้มเติบโตดี และเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากเดิมร้อยละ 4 บวกกับการใช้จ่ายในประเทศทั้งการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.5 และการบริโภคในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.5 มีแรงส่งต่อเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะออกมามาก รวมถึงรายได้เกษตกรที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ราคาปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ราคายางพาราผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
นางสาวกาญจา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ อยู่ระหว่างการปรับประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ จากเดิมประเมินไว้ที่ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองว่ามีโอกาสอ่อนค่ากว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเงินบาทถือว่าอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลอื่นๆ ในเอเชียประมาณร้อยละ 1.3 จากสิ้นปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลสงครามการค้าส่งผลให้เทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยง
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว