นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอผลศึกษาการบริการรูปแบบร่วมเดินทาง (RideSharing) ของแอปพลิเคชันแกร็บคาร์ (Grab Car) ที่ควบรวมกับอูเบอร์หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกันที่ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปฯ ให้รัฐบาลและกรมการขนส่งทางบกพิจารณาแนวทางการจดทะเบียน RideSharing ให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งนำคนขับและรถมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง (รถสาธารณะ) สามารถใช้ป้ายทะเบียนเดิม (สีขาว) ได้ โดยผู้ให้บริการต้องมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อลงบันทึกประวัติ พร้อมรับสติกเกอร์ 2 ชิ้น ระบุว่ารถคันนี้เป็นรถรับจ้างสาธารณะ ติดด้านท้ายและด้านหน้ารถ
ส่วนบทลงโทษตามกฎหมายและมาตรฐานของรถยนต์ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น การตรวจสภาพรถตามรอบเหมือนกับรถบริการสาธารณะทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างจากแท็กซี่สาธารณะ คือ ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์บางประเภทตามที่รัฐบาลกำหนด อาทิ มิเตอร์ จีพีเอสล็อกความเร็ว กล้องถ่ายภาพนิ่ง (SnapShot Camera) เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเช่นกัน เพียงแค่ประกาศกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ TDRI พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการระบบ Ride Sharing ให้เหตุผลว่า มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว รวมถึงความสุภาพในงานบริการมากกว่าแท็กซี่ทั่วไป แต่ยังกังขาเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ขับขี่ ขณะที่ข้อได้เปรียบของระบบนี้มีหลากหลายด้าน ทั้งชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต รวมถึงการจองล่วงหน้า การติดตั้งจีพีเอสบอกตำแหน่งรถ และบอกระยะเวลารอรถ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี 3ปัจจัยหลักที่ผู้โดยสารเลือกใช้คือ ได้รับโปรโมชั่นลดราคา ความรวดเร็ว และการบริการแบบเข้าถึงหน้าประตู รวมไปถึงความคุ้มค่าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ กระตุ้นให้รถแท็กซี่บริการดีขึ้น ตอบสนองเทรนด์การใช้ชีวิต ขยายตลาดแรงงาน การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่ไม่ถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพ ลดต้นทุนธุรกรรม เป็นต้น ส่วนข้อเสียนั้นเป็นเรื่องอัตราค่าโดยสารที่สูงเกินจริง และราคาที่ผันผวน เพราะคำนวณราคาแบบพลวัตร (Dynamic Pricing) เป็นการปรับค่าโดยสารตามภาพของตลาดตามเวลาจริง อีกทั้งผู้ประกอบการไม่เปิดเผยวิธีการคำนวณการคิดราคา
ขณะที่ข้อเสียทางสังคม ได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การคิดค่าโดยสารเพิ่ม คิดเงินเพิ่มเมื่อยกเลิกเที่ยววิ่ง การไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการกำกับดูแล ความปลอดภัยของยานพาหนะ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวในระบบดิจิตอล
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของ RideSharing และแท็กซี่ในระบบ พบว่า Ride Sharing มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยการเดินทางราว 147 บาท สูงกว่าแท็กซี่ในระบบ ซึ่งอยู่ที่ราว 131 บาท ระยะเวลาในการเดินทาง RideSharing อยู่ที่ 30 นาที ส่วนแท็กซี่อยู่ที่ 31 นาที และมีเวลารอรถเท่ากันที่ 9 นาที โดยพบว่าผู้โดยสารยินดีจ่ายแพงกว่าเพื่อความสะดวกสบาย แต่จำเป็นต้องมีมาตรฐานการกำกับดูแลและบทลงโทษที่เหมือนกับรถแท็กซี่ทั่วไป โดยเฉพาะอัตราค่าโดยสารที่ต้องถูกกำหนดในกรอบเดียวกัน
ทางด้านนายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ Ride Sharing ต้องเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนข้อเสนอของผลการศึกษาทีดีอาร์ไอจะนำมาพิจารณาในรูปแบบของกรรมการและเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาด้วย โดยทีอีอาร์ไอจะนำเสนอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแท็กซี่ที่จดทะเบียนถูกต้องและติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วนในระบบ Taxi Ok แล้วราว 7,000 คัน