นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปกฎหมายในฐานะโฆษกกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน วานนี้ (1 มิ.ย.) ที่ประชุมได้ลงรายละเอียดรายมาตราในประเด็น คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) องค์กรภายในใหม่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจ ทำหน้าที่เสมือนเป็นศาลปกครองชั้นต้น การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เฉพาะประเด็นที่ว่ากฎ ก.ตร.ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ตำรวจฯ หรือไม่ ให้คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.เป็นที่สุด
ส่วนประเด็นอื่น ๆ หากไม่พอใจคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ผู้อุทธรณ์หรือร้องทุกข์ยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ระบบคุณธรรมที่จะได้บัญญัติขึ้นไว้ใหม่นั้น ได้แก่ การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถของบุคคล การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการตำรวจ ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากอาวุโส โดยจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้ การดำเนินการทางวินัย ต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและปราศจากอคติ และการบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง
สำหรับ ก.พ.ค.ตร.มีองค์ประกอบ 7 คน มีวาระ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว มาจาก 6 กลุ่ม คือ กลุ่มอดีตข้าราชการพลเรือน กลุ่มอดีตข้าราชการตำรวจ กลุ่มอดีตข้าราชการทหาร กลุ่มอดีตข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง กลุ่มอดีตข้าราชการอัยการ และกลุ่มนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา