นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกกำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของโรคดังกล่าวซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นปัญหามากทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงประเทศไทย ที่พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 3,936,171 ราย เป็น 5,597,671 ราย เฉลี่ยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 3 แสนคน ในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 50 ไม่รู้ตัวเองมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ชาย เพราะสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยได้เข้าโรงพยาบาล จึงไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ และไม่รู้ตัวเองว่าป่วย จะมารู้ตัวอีกทีเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงไปแล้ว เช่น หลอดเลือดหัวใจและสมอง ไต เบาหวาน บางคนช็อกหมดสติจากภาวะเส้นเลือดสมองตีบ หรือแตก ทำให้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพตามมา
นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ปีนี้จะเน้นการเข้าถึงการตรวจสุขภาพวัดความดันให้มากขึ้น โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทยนำเครื่องวัดความดันอัตโนมัติไปติดตั้งไว้บริการประชาชนที่มารอรับบริการที่ธนาคาร 200 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้สามารถตรวจวัดความดันได้แล้วจะมีการส่งข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์เข้าระบบสาธารณสุขต่อไป หากคนที่เริ่มมีปัญหาความดันสูง เช่น ตัวเลขขีดบน ซึ่งเป็นค่าการบีบตัวของหัวใจเกิน 120 ก็จะมีคำแนะนำเรื่องการปรับพฤติกรรม คือลดการกินเค็มลง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับคนที่ยังไม่ป่วย ควรมีการตรวจวัดความดันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 3 - 6 เดือน/ครั้ง หากเริ่มมีปัญหาอาจจะต้องตรวจวัดทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงคือ อายุมากกว่า 35 ปี ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน