นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานการแถลงข่าวยูเนสโกประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย
ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูล เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอไปเมื่อปี 2559 และทางยูเนสโกได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ทำการประเมินเขตอุทยานธรณีสตูล ในปี 2560 จนล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานธรณีสตูล ที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง ของจังหวัดสตูล ยกระดับเป็นอุทยานธรณีโลก หรือ Satun Global Geopark เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยผู้ประเมินจากยูเนสโกได้ลงพื้นที่จริง และได้เห็นถึงวัฒนธรรมของจังหวัด การนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่า การบริหารจัดการด้าน Satun Global Geopark
จากนั้น ได้นำผลจากการลงพื้นที่นำเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ของจังหวัดว่ามีความเหมาะสม และควรจะได้รับการยกระดับสู่อุทยานธรณีโลกหรือไม่ ทั้งด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน การเป็นต้นแบบที่ดีทั้งด้านการศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา การบริหารจัดการอุทยานธรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ความต้องการของชุมชน และได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐในทุกระดับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และอาสาสมัคร ความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านมรดกทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติอย่างชัดเจน ซึ่งจังหวัดสตูลมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งด้านวิชาการ และสภาพพื้นที่ ซากดึกดำบรรพ์ แหล่งอารยธรรม ห้องเรียนทางวิทยาศาสตร์ฯ
ล่าสุด ยูเนสโกได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า จังหวัดสตูล ประเทศไทย ได้รับการยกระดับเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยและแหล่งธรณีของจังหวัด และจะเป็นการเริ่มต้นในเวทีโลก โดยจังหวัดสตูลจะต้องดำเนินการสานต่อในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับอุทยานธรณีสตูล ได้รับการยกระดับเป็นอุทยานธรณีโลก เป็นประเทศที่ 36 ของโลก และเป็นแหล่งที่ 5 ของเอเชีย และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย อุทยานธรณีสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 2,597.21 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาในระดับสากล ได้รับการบริหารจัดการ โดยใช้แนวคิดการอนุรักษ์ธรณีวิทยาการส่งเสริมให้ความรู้ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทางยูเนสโกพร้อมจะโปรโมทให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สิ่งที่ตามมา คือ จังหวัดสตูลจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม อารยธรรมที่สำคัญ และจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น สำหรับเขตอุทยานธรณีสตูล มีทั้งหมด 28 แหล่ง ครอบคลุม 4 อำเภอ โดยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือนในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
จากสถานะดังกล่าว ทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสตูลมีความยินดีเป็นอย่างมาก เพราะอุทยานธรณีโลกจะเป็นการส่งเสริม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างเต็มตัว โดยการท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยา มรดกทางทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน สืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี ตามแนวนโยบายของรัฐบาล มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป