นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ระดับรัฐมนตรี (TIFA) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี โดยไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการ 232 และไม่ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทย พร้อมชี้แจงเหตุผลในฐานะประเทศพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน อีกทั้งไทยมีการส่งออกและครองส่วนแบ่งตลาดเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ น้อย
ขณะเดียวกัน ไทยได้แจ้งการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งในส่วนการปราบปรามสินค้าละเมิดฯ การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนาปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย โดยไม่จัดไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกทบทวนว่าจะได้ต่ออายุ GSP หรือไม่ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนการต่ออายุ GSP เพราะไม่ได้เปิดตลาดและคุ้มครองสิทธิแรงงาน มี 3 ประเทศ คือ อินเดีย อินโดนีเซีย และคาซัคสถาน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อาจส่งผลกระทบกับสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง และมีการหารือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์
ขณะเดียวกัน ไทยยังได้หารือโดยขอให้สหรัฐฯ เร่งกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยกับสินค้าส้มโอของไทย เพื่อให้สามารถส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ได้ รวมทั้งได้หารือในประเด็นที่จะให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ รับรองให้หน่วยงานไทย อาทิ กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตรของไทย เป็นหน่วยงานที่สามารถตรวจและออกเครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยไปตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดที่ให้การยอมรับตราเครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยยอมรับค่าความปลอดภัยของสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องใน ตามมาตรฐาน Codex นั้น ไทยได้ชี้แจงให้เห็นว่าจะต้องมีการศึกษาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันต่อไป