xs
xsm
sm
md
lg

คุก 8 เดือน"เรืองไกร"แจ้งความเท็จ กล่าวหาอดีต ส.ส.ปชป.แทรกแซง DSI

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลแขวงดอนเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.812/2559 ที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลยที่ 1- 2 ฐานแจ้งความเท็จ ให้พนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาท

จากกรณีนายเรืองไกร อดีต ส.ว. และทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายวัชระ โจทก์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่ 1  สภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้น ร่วมกับนายศุภชัย ศรีหล้า ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนฯ จงใจใช้สถานะ หรือตำแหน่ง ส.ส. เข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำงานของนายธาริต โดยเรียกนายธาริต มาให้การเรื่องชายชุดดำ ในเหตุการณ์ความไม่สงบเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีอำนาจและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้มีมติของ กมธ. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 266 (1) โดยศาลมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธ และมาศาลตามนัด 


ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายวัชระ โจทก์ เป็นรองประธาน กมธ. เรียกนายธาริต จำเลยที่ 2 ไปชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีชายชุดดำ ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2556 นายเรืองไกร จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึง กกต.ว่า โจทก์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โดยศาลเห็นว่า โจทก์ทำตามอำนาจหน้าที่ ขณะที่จำเลยที่ 1 บอกว่าโจทก์และนายศุภชัย ทำเกินหน้าที่ กมธ.ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีดีเอสไอเพื่อประโยชน์ตนและพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์จงใจก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 อย่างไร พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 เคยเป็น ส.ว.มาก่อนย่อมทราบกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ การใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ต้องไม่เกินเลยขอบเขตกฎหมาย จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ จึงผิดตามฟ้อง


ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลเห็นว่าโจทก์ต้องนำสืบจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 แบ่งหน้าที่ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำหน้าที่โดยสุจริตแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี ทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ยกฟ้อง

ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา นายเรืองไกร ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราวไประหว่างอุทธรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น