นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ และรักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยถึงการทดลองวิ่งรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) 2 เส้นทาง คือ สาย 138 พระประแดง-หมอชิต 2 (ทางด่วน) และสาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) ภายใต้โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซม และบำรุงรักษารถโดยสาร 489 คัน วงเงิน 4,261 ล้านบาท ที่มีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา ซึ่งในช่วง 3 วัน คือ วันที่ 14-16 มีนาคม ที่ผ่านมา จากการสอบถามผู้โดยสารที่ใช้บริการ มีความชอบและต้องการรถเมล์ใหม่นำมาให้ใช้บริการโดยเร็ว เนื่องจากรถเมล์เอ็นจีวีนี้ต้องเป็นรถที่ทันสมัย สะดวกสบาย การขึ้น-ลงง่าย เพราะเป็นรถเมล์ชานต่ำ ซึ่งมีให้บริการครั้งแรกในไทย ที่สำคัญรถเมล์เอ็นจีวีผู้โดยสารทุกประเภทใช้บริการได้ โดยเฉพาะผู้พิการที่จะมีที่สำหรับจอดรถวีลแชร์เข็นรถขึ้นจอดบนรถเมล์ได้ทันที ที่สำคัญมีอุปกรณ์ล็อกรถวีลแชร์ให้มีการความปลอดภัยในระหว่างการใช้บริการด้วย
นอกจากนี้ ยังมีที่นั่งสำรองสำหรับผู้สูงอายุ ใช้บริการสะดวกมากขึ้น ประกอบกับยังมีสิ่งอำนวยสะดวกอื่นๆ ภายในรถ เช่น กล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ระบบจีพีเอส มีพื้นที่มากขึ้น ทำให้โล่ง ดูปลอดโปร่ง
ส่วนผลการทดสอบด้านสมรรถนะของรถ พบว่าทั้ง 2 เส้นทางสามารถวิ่งขึ้นสะพานพระราม 9 ได้ ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น ที่ติดขัด รถวิ่งข้ามสะพานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสะพานพระราม 9 เป็นสะพานที่มีความลาดชันและสูงที่สุดในกรุงเทพฯ โดยการทดสอบวิ่ง 3 วันยังไม่พบปัญหาอุปสรรคเรื่องใช้รถ เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ พื้นที่ลาดสูงทำงานไม่มีปัญหา ส่วนระบบปรับอากาศมีความเย็นสม่ำเสมอ
สำหรับจำนวนผู้โดยสารใน 2 เส้นทาง เฉลี่ยตกคันละ 500 กว่าคนต่อวัน ปกติรถเมล์วิ่งวันละ 8 เที่ยว ผู้โดยสารประมาณเที่ยวละ 70-80 คนต่อคัน ซึ่งมีความเทียบเท่ากับรถเมล์ปรับอากาศที่ให้บริการในเส้นทางดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากทดสอบเดินรถแล้ว จะมีผู้แทน ผู้เชี่ยวชาญสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นตัวแทนด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ ขสมก. ร่วมทดสอบ จะสรุปความคิดเก็นผลการทดสอบ โดยในวัน 19 มีนาคม ประชุมคณะกรรมการตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี และในวันที่ 17-18 มีนาคม ทางบริษัทคู่สัญญาจะนำรถเมล์เอ็นจีวีประมาณ 100 คัน ไปตรวจสภาพและจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก หลังจากนั้น ขสมก. ตรวจรับรถ ตามแผนตรวจรับวันที่ 19-20 มีนาคม 30 คัน วันที่ 21 มีนาคม 30 คัน และ วันที่ 25 มีนาคม อีก 40 คัน หลังจากตรวจรับรถแล้วล็อตแรก 100 คัน จะส่งมอบให้เขตการเดินรถที่ 5 นำไปวิ่งให้บริการประชาชนต่อไป คาดว่าจะเริ่มทยอยวิ่งได้วันที่ 22 มีนาคมนี้ หลังจากส่งมอบล็อตแรก 100 คันแล้ว จากนั้นเดือนเมษายน รับรถอีก 100 คัน พฤษภาคม 100 คัน และมิถุนายน อีก 189 คัน จนครบ 489 คัน ซึ่งนำรถไปวิ่งให้บริการ 25 เส้นทาง หลังจากวิ่งให้บริการที่เขตการเดินรถที่ 5 แล้ว จะไปมอบที่เขตการเดินรถที่ 2 เขต 1 และ เขต 3 ต่อไป คาดว่าช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ประชาชนจะได้ใช้บริการรถเมล์ใหม่แล้ว เพื่อรองรับการเปิดเทอมของนักเรียน ทั้งนี้ ในอนาคตรถเมล์เอ็นจีวีต้องติดตั้งระบบอี-ทิกเก็ต และจอบอกสถานีด้วย
นอกจากนี้ รถเมล์ ขสมก. ที่ให้บริการในปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 27 ปีแล้ว ซึ่งการใช้งานรถเมล์ 27 ปีแทบไม่มีหน่วยงานไหนทำได้ แต่ ขสมก. มีความจำเป็นที่ต้องนำรถเก่าที่บำรุงรักษามาให้บริการ เพราะไม่สามารถหารถเมล์ใหม่ทดแทนได้ ซึ่งการใช้รถเมล์เก่ามีปัญหามลพิษ และค่าบำรุงรักษาสูงขึ้นตามอายุรถ ขณะนี้แผนฟื้นฟูของ ขสมก. ใกล้จะแล้วเสร็จ และจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ในวันที่ 22 มีนาคม เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ถ้าได้รับความเห็นชอบในแผนมีการเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดใน ขสมก. คาดว่าภายในปี 2564 ขสมก. จะมีรถเมล์มาวิ่งให้บริการใหม่ครบทั้ง 3,000 คัน ใน 137 เส้นทาง ซึ่งหากมีรถเมล์ใหม่มาวิ่งให้บริการประชาชน ก็จะช่วยแก้ปัญหามลพิษได้