xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้หญิงยื่น"คู่มือเผือก"ให้คมนาคมใช้เป็นต้นแบบป้องกันการคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



วันนี้ (14 มี.ค.) องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งมอบ "คู่มือเผือก" ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการอบรมพนักงานขนส่งสาธารณะ เพื่อให้พนักงานในระบบขนส่งมวลชนสามารถรับมือและช่วยเหลือหากเห็นการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมป้องกันและหยุดปัญหาการคุกคามที่เกิดขึ้นด้วย



น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2560 โดยเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจทุกเพศยอมรับว่าเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะถึง 35% ในจำนวนนี้เป็นเพศหญิง 45%

สำหรับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่พบบ่อย 5 อันดับแรก คือ ลวนลามด้วยสายตา 18.8% แต๊ะอั๋ง ถูกเนื้อต้องตัว ลูบคลำ 15.4% ผิวปากแซว 13.9% พูดแซว พูดแทะโลม พูดเกี้ยวพาราสี 13.1% และพูดลามกเรื่องเพศ หรือด่าทอด้วยถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องเพศ 11.7% โดยประเภทขนส่งสาธารณะที่เกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง 50% มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 11.4% แท็กซี่ 10.9% รถตู้ 9.8% และรถไฟฟ้า 9.6%

สำหรับเนื้อหาใน "คู่มือเผือก" จะเป็นแนวทางการจัดการสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้พนักงานที่ให้บริการคอยสอดส่อง และสังเกตลักษณะท่าทางของผู้โดยสาร หากพบเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น ผู้โดยสารมีสีหน้าอึดอัด ไม่พอใจ หรือแสดงท่าทีว่าต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเห็นผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้โดยสารอื่น เช่น จ้องมองอย่างผิดปกติ ยืนเบียดชิดผู้โดยสารอื่นเกินความจำเป็น หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารส่องไปยังบุคคลอื่น โดยพนักงานควรมีวิธีจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ เช่น การส่งเสียงเตือนในลักษณะที่ไม่ระบุเจาะจงตัวผู้กระทำการคุกคาม เพื่อเตือนให้ผู้ถูกคุกคามระมัดระวังตัว หากยังไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานควรแจ้งให้พนักงานขับรถหยุดรถ และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป เป็นต้น



น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด คือนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกัน หรือไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ บนรถสาธารณะทั้งหมดภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม ซึ่งหากจะให้ได้ผล ภาครัฐต้องมีมาตรการหลายๆ อย่างออกมา โดยที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้เสนอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพราะอย่างน้อยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะตรวจสอบดูแลว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมีกรณีที่เหยื่อไปแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน


ขณะที่นายอาคม กล่าวว่า ตนไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการคุกคามบนรถโดยสารสาธารณะ ถือเป็นอันตรายทั้งทรัพย์สิน และบุคคล ซึ่งตนจะสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมดการเดินทาง ร่วมมือและเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศให้มากขึ้น พร้อมทั้งจะนำคู่มือเผือกที่ได้รับครั้งนี้ไปขยายผลในทุกระบบขนส่งสาธารณะต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น