นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ต่อกรณีข่าวการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนักในสังคมไทย แต่พบได้บ่อยในต่างประเทศ กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วง อยากให้ประชาชนไทยตระหนักถึงพฤติกรรมเลียนแบบวิธีการการฆ่าตัวตายของคนอื่น (copycat suicide หรือ suicide contagion) จากการได้รับข้อมูล การได้เห็นภาพ ได้ฟังการพรรณนาบรรยายในเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อ
ทั้งนี้ มีผลงานวิจัยพบว่าข่าวการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนมาก-น้อยตามระยะเวลา ความถี่และปริมาณข่าว โดยการเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังการรับข่าวที่น่าสะเทือนใจ บรรยายวิธีการกระทำโดยละเอียด นำเสนอซ้ำบ่อยๆ หรือทำให้คิดว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจ เป็นความกล้าหาญ ซึ่งในทางจิตวิทยา การรับข้อมูลข่าวสาร เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงนาที มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตจึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกัน โดยในส่วนของผู้มีบทบาทเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการให้รายละเอียด วิธีการ ภาพ โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายของคนที่มีชื่อเสียง คนดัง ดารา ให้เลี่ยงเสนอข่าวซ้ำๆ ถี่ๆ
ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัย ทั้งสาเหตุทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้าที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุทางด้านจิตวิญญาณ สาเหตุทางด้านสติปัญญา สาเหตุด้านครอบครัว สาเหตุทางด้านพฤติกรรมและสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สาเหตุด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายได้สำเร็จ มักมีปัญหาความยุ่งยากใจมากกว่าหนึ่งปัญหาเสมอ ดังนั้นจึงไม่ควรด่วนสรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนๆ หนึ่ง
สำหรับบุคคลทั่วไปขอให้หมั่นสังเกตคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หากพบมีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ แยกตัว ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้า หรือคนที่มักพูด หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย แสดงความเต็มใจช่วยเหลือ ยอมรับปัญหาของเขา ให้กำลังใจ ไม่ปล่อยให้อยู่ลำพังคนเดียว ชักชวนออกไปทำกิจกรรมข้างนอก และพาไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมที่แอปพลิเคชั่นสบายใจ (sabaijai)