นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในการสัมมนา "ธนบุรีในวัฏจักรการเปลี่ยนแปลง : มองผ่านชีวิตคนและชุมชน" ในโอกาสฉลองกรุงธนบุรีครบรอบ 250 ปี ว่า จากการศึกษาของนักวิชาการทำให้พบถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของพื้นที่ธนบุรี โดยเฉพาะระบบการคมนาคมที่มาจากการพัฒนาเมือง ตลอดจนวิถีชุมชนที่หายไป คนดั้งเดิมทิ้งถิ่น ทิ้งบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์จนไม่เหลือให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา อาทิ เมืองนนท์ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่พัฒนาเมือง ส่งผลให้ทุเรียนนนท์ ที่เป็นพื้นเศรษฐกิจใกล้สูญหาย ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จะรวบรวมข้อมูลวิจัยของนักวิชาการในเครือข่าย เก็บเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ใช้ศึกษา และใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเมือง และจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และชุมชน สร้างการตระหนักรู้ถึงการรักษาวิถีวัฒนธรรมที่ดี
ด้านนางสาววราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์ อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าจากการศึกษาวิจัยพื้นที่โดยรอบกรุงธนบุรีช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าบ้านสวนริมคลองบางเชือกหนังและพื้นที่ตลิ่งชันเผชิญการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเมืองทำให้ชุมชนบางแห่งได้รับผลกระทบ ทั้งจากการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนสายสำคัญ เช่น ถนนราชพฤกษ์ และถนนพรานนก - พุทธมณฑลสาย 4 การขยายเส้นทางรถไฟฟ้ามายังฝั่งธนบุรี ส่งผลให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่สวนย่านฝั่งธนบุรีถูกกว้านซื้อนำมาทำเป็นหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนริมคลองบางเชือกหนังที่ไม่สามารถใช้น้ำทำเกษตรได้เหมือนอดีต น้ำในคลองเน่าเสีย ผลร้ายทำให้ผลผลิตทางเกษตรคุณภาพต่ำลง ชาวสวนขายที่ดิน ย้ายไปหาแหล่งเพาะปลูกใหม่ การเดินทางทางน้ำซบเซา เรือหางยาวรับส่งผู้โดยสารน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าพายเรือขายอาหารสดอาหารแห้งสูญหาย