xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันโลกร้อนฯ เผยสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งไทย พบรุนแรงทั้งอ่าวไทย-อันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร กล่าวถึงสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งของไทยในปี 2561 ในงานเสวนาสาธารณะ TGWA ครั้งที่ 8 เรื่อง "สถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งปี 2561: ทช ประกาศไทยหลุดพ้นวิกฤติกัดเซาะแล้ว…จริงหรือ?" ร่วมกับอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากการศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2533 ประเทศไทยเริ่มพบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2535-2536 ที่หาดบางเทา จ.ภูเก็ต บางพื้นที่ของ จ.นราธิวาส และบริเวณอ่าวไทยตอนบนรูป ก

จากนั้นในปี พ.ศ. 2549 ศ.ดร.ธนวัฒน์ ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การกัดเซาะของประเทศไทยให้กับทางธนาคารโลก พบว่า การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในห้วงเวลานั้น มีพื้นที่กัดเซาะขั้นรุนแรง หรือมากกว่า 5 เมตรต่อปี ทั่วประเทศมีระยะทางยาวประมาณ 599 กิโลเมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 21 ของความยาวชายฝั่งทั่วประเทศไทย

ทั้งนี้ สถานการณ์การกัดเซาะของประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ในปี 2556 พบว่าพื้นที่การกัดเซาะรุนแรงทั่วประเทศมีระยะทางยาว 830 กิโลเมตร หรือคิดเป็น ร้อยละ 30 ของความยาวชายฝั่งทั่วประเทศ โดยสรุปสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเลในปัจจุบัน พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน


กำลังโหลดความคิดเห็น