xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคห่วงคนไทยเข้าใจผิดพิษคิดว่าสุนัขบ้ารักษาหาย ย้ำหลัก 5 ย.ป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทย ว่า ขณะนี้น่าห่วง เพราะผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ยังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลกรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2560 สุนัข และแมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากว่า 800 ตัว และปี 2561 นี้ ผ่านไปเพียง 1 เดือน แต่กลับพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว ทำให้ยังคงพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าต่อเนื่อง ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากความชะล่าใจไม่ไปพบแพทย์ตั้งแต่ต้น รอจนโรคเริ่มแสดงแล้วค่อยไปพบแพทย์ จึงสายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน

จากการสำรวจความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าของคนไทย พบว่าคนไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย และร้อยละ 59 คิดว่าไม่เป็นไร เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ ทั้งที่จริงๆ แล้วโรคพิษสุนัขบ้า ยังเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้ด้วยหลัก 5 ย.ต้องห้าม คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่งกับสุนัขคนอื่น หรือสุนัขที่มีการผิดปกติ กรณีถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งต้องได้รับวัคซีนครบถ้วนตามกำหนดนัดของแพทย์

นอกจากนี้ ควรกักสุนัขและแมวตัวที่กัดข่วน ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กักตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อการส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ กรณีผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบมากในสุนัขและแมว โดยติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล คนสามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้จากการถูกกัด ข่วนจากสุนัขหรือแมว เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้วจะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกราย


กำลังโหลดความคิดเห็น