xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงแจงผลกระทบปิดทางเข้า-ออกมอเตอร์เวย์สาย 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง แจ้งว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวเรื่อง นางสุนีย์ ภูติวณิชย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี ผลกระทบจากการปิดทางเข้า-ออก ถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา ช่วงชลบุรี-พัทยา นั้น กรมทางหลวง โดยกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. จากการเปิดใช้ด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา ในช่วงแรกนั้น ส่งผลให้ทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษที่บริเวณแยกสัญญาณไฟจราจรบนทางหลวงหมายเลข 3701, 3702, 3608 และ 3611 เกิดการจราจรคับคั่ง ซึ่งกรมทางหลวงได้ร่วมกับตำรวจในพื้นที่ เช่น สภ.หนองขาม จ.ชลบุรี และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เก็บรวบรวมข้อมูลจราจร

รวมทั้งเรียนรู้พฤติกรรมของการสัญจรที่เข้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณทางแยกที่อยู่บนทางคู่ขนาน ได้แก่ ทางแยกเก้ากิโล ทางแยกซากยายจีน ทางแยกแม่กิมบ๊วย ทางแยกหนองยายบู่ และทางแยกห้วยเฝ้า โดยนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์เชิงวิศวกรรม ทำการปรับรอบสัญญาณไฟจราจรที่ทางแยกต่างๆ (Phasing) ให้มีความสอดคล้องกับปริมาณจราจรที่เข้าใช้ในแต่ละทิศทาง เช่น ปรับเพิ่มสัญญาณไฟในรถทิศทางหลักให้วิ่งผ่านได้นานขึ้น สอดคล้องกับปริมาณจราจรบนทางหลวง พร้อมทั้งปรับกายภาพของช่องทางเลี้ยวและจุดกลับรถต่างๆ 22 จุด ส่งผลให้ในปัจจุบันสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ลดการเกิดแถวคอยสะสม ทำให้การจราจรมีความคล่องตัวมากขึ้น

2. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพ-ชลบุรี เป็นทางสายหลักที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง) เป็นมูลค่ามหาศาลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยกรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายทางหลวงอื่นๆ เพื่อรองรับการเดินทางร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ด้วย เช่น การเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 314 (ฉะเชิงเทรา) จาก 4 มาเป็น 6-8 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 344 จาก 4 มาเป็น 6 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 331 (มาบเอียง) จาก 4 มาเป็น 6-8 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 36 จาก 4 มาเป็น 8 ช่องจราจร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงทางแยกระดับหนองขาม-ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จาก 4 มาเป็น 14 ช่องจราจร

นอกจากนี้ ยังมีทางหลวงแผ่นดินสายใหม่ 3701 / 3702 ขนาด 2-3 ช่องจราจร ต่อทิศทางขนานกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 อีกด้วย ปัจจุบันทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด เป็นทางหลวงหลักที่สำคัญของภาคตะวันออก รองรับระบบ Logistics การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล มีความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการเดินทาง ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ทั้งยังสามารถควบคุมเวลาในการเดินทางและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง ตลอดจนเป็นโครงข่ายเส้นทางสายหลักสอดรับกับการพัฒนาของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมภาพรวมในการลงทุนพัฒนาพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

3. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา มีทางเข้า-ออกผ่านทางแยกต่างระดับตามมาตรฐานสากลในทุกทิศทาง ได้แก่ ทางแยกต่างระดับบ้านบึง ทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรีนคร) ทางแยกต่างระดับหนองขาม ทางแยกต่างระดับโป่ง และทางเข้าออกที่ด่านฯ พัทยา รวมมีจุดทางเข้า-ออกทั้งสิ้น 19 จุด ซึ่งสอดคล้องกับโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินดังที่ได้กล่าวในข้างต้น โดยการกำหนดจุดทางเข้า-ออกเป็นระยะๆ ตามหลักวิศวกรรมจราจร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของรถในทางสายหลัก และเกิดความปลอดภัยในการขับขี่มากที่สุด โดยเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

4. ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวได้เหมือนเดิม เพียงแต่มีการปรับทาง เข้า-ออกให้เป็นไปตามมาตรฐานและลดอุบัติเหตุ โดยใช้ทางเข้า-ออกบริเวณทางแยกต่างระดับซึ่งเป็นรูปแบบการเชื่อมโยงทางถนนที่มีความปลอดภัย (Road Safety) สูงสุดตามมาตรฐานสากล ในภาพรวมจึงส่งผลให้รถบัสนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยระยะเวลาลดลงและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งจะส่งเสริมเศรษฐกิจภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกให้ดียิ่งขึ้น

5. การเปิดช่องทางเข้า-ออกทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับทางหลวงแผ่นดินในบริเวณใด จะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มีการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อก่อสร้างทางเข้า-ออก เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นเส้นทางมีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายลอจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน


กำลังโหลดความคิดเห็น