xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 29 ธันวาคม 2560

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

...
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานหนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์แก่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำไปแจกประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดหรือสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ โดยหนังสือสวดมนต์พระราชทานนี้ จะประกอบไปด้วยบทสวดมนต์บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย 3 บท และบทเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล 34 บท พร้อมคำแปล เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจความหมายบทสวดมนต์แต่ละบทที่จะสวดด้วย โดยในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และในโอกาสอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งในกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนั้น ถวายเป็นพระราชกุศลเสริมสิริมงคลทั่วไทย ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม พ.ศ.2561 นี้ เพื่อเป็นความเป็นสิริมงคล

กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐ เอกชน และองค์การศาสนาทุกศาสนา นอกจากจะร่วมกับวัดทั่วประเทศ และต่างประเทศแล้ว ศาสนิกชนในศาสนาคริสต์ พราหมณ์ ฮินดู และซิกข์ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสวดมนต์อธิษฐานขอพรตามหลักทางศาสนาอีกด้วย

ทั้งนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาร่วมในกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง และเป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ เตือนใจให้ตั้งมั่นในความดี ตั้งใจหมั่นทำความดี คิดดี พูดดี ทำแต่สิ่งดีๆ ชีวิตเราจะได้พบเจอแต่ความสบายใจไม่ทุกข์ร้อน โดยเริ่มจากตัวเองก่อน จะเป็นพื้นฐานให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อไม่มีการเบียดเบียนกันแล้ว ไม่มีการละเมิดสิทธิผู้อื่น ย่อมจะไม่มีการละเมิดกฎหมาย สังคมมีแต่สงบสันติในการอยู่ร่วมกัน

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ภาคเหนือพบปะประชาชนใน จ.พิษณุโลก และสุโขทัย รับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ เรื่องราวที่ต้องการให้มีการพัฒนาความคิดเห็น ข้อเสนอต่างๆ มีการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สุโขทัย ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีโอกาสหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด รวมถึงตัวแทนของพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นการรับฟังถึงความต้องการชุมชนท้องถิ่นโดยตรง มีหลายอย่างเป็นสิ่งที่ต้องการ หลายอย่างไม่ต้องการ เราต้องไปหาทางออกให้ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องมา เอารายละเอียดมาไตร่ตรอง มาหาข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อสรุป ไม่ให้เกิดความสับสน แล้วช้าเกินไปในการที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาวยั่งยืนของเรา

ผมคิดว่ามันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ามันเป็นข้อมูลสำคัญ คือเราต้องใช้ทั้งหลักการ ทั้งวิชาการ ทั้งเอกสาร ทั้งการรายการต่างๆ ประกอบกับการลงพื้นที่ เพื่อจะประกอบกับความตกลงใจของคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาล เพื่อจะดำเนินการจัดทำลำดับความเร่งด่วนภายใต้โครงการ และโดยเฉพาะอย่างในเรื่องของการบริหารงบประมาณ เพราะเรามีงบประมาณจำกัด และเรามีความต้องการอยู่ในหลายพื้นที่ หลายๆ อย่างมันต้องทำใหม่ทั้งหมด หลายๆ อย่างต้องแก้ไข หลายๆ อย่างต้องเพิ่มเติมเสริมต่อ เราจะต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับห้วงระยะเวลาตรงกับความยากลำบากของพี่น้องทุกคน ให้เห็นผลให้ตรงจุด และตรงความต้องการ การแก้ปัญหาต้องแก้ให้ตรงจุดไม่อย่างนั้น มันก็เหมือนกับทำอะไรไม่สำเร็จ ทำตรงนู้นบ้างตรงนี้บ้าง ไม่สำเร็จสักอย่าง

เพราะฉะนั้นมันต้องทำหลายๆ อย่างประกอบกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนแต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยผ่านทางช่องทางของราชการ ช่องทางของท้องถิ่น เพื่อให้ส่งถึงผมได้โดยตรงในระยะเวลาอันรวดเร็วขึ้น และก่อนสิ้นปีนี้นั้น ผมและคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องประชาชน และดูแลถามไถ่ทุกข์สุขอย่างใกล้ชิด ถือว่าครบทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือในครั้งนี้ด้วย และได้มีโอกาสไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ยังเหลืออีอีซีที่ต้องไป อีกสักพักหนึ่ง เพราะว่าเป็นเรื่องของการลงทุนขนาดใหญ่

วันนั้นได้รับข้อมูลมากจากปากของพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า จับเข่าคุยกันจากหน่วยงาน ว่าก่อนจะลงไปนั้น ผมไปให้คณะรัฐมนตรีได้ลงไปเยี่ยมเยือนในพื้นที่รับผิดชอบนั้นด้วย คือไม่ได้ไปในที่เดียวกับผมในตอนแรกวันแรก ต่างกระทรวงจะไปเยี่ยมในแต่ละพื้นที่ แต่ละถิ่นของตัวเอง เพื่อจะไปรับทราบข้อมูล ผมถือว่าเราได้เอาทุกกระทรวงลงไปในพื้นที่จริง ไม่ใช่นายกฯ ต้องไปคนเดียว ลงไปฟังคนเดียว ไม่ใช่ รับข้อมูลความเคลื่อนไหวและเสนอให้ผมทราบ และนำเข้า ครม.ในกิจการที่เป็นงานฟังก์ชั่นของเขาด้วย

การทำงานวันนี้นั้น เราต้องใช้กลไกประชารัฐ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ผมอยากให้กลไกนี้เป็นกลไกที่มีความขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน มีการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงในทุกพื้นที่ในการจะเดินหน้าโครงการต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ สำคัญคือความเข้าใจ มันขับเคลื่อนประเทศในภาพรวม มันต้องทำทำความเข้าใจเป็นหลัก จะต้องรู้ถึงความมุ่งหมายในการจัดทำแผนงานโครงการต่างๆ ว่า ทำมาเพื่ออะไร ใครจะได้ตรงไหน ใครจะเสียตรงไหน ทั้งนี้ ทุกอย่างมันได้เกิดความเป็นธรรมและทั่วถึงยั่งยืน รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการในการไปเยี่ยมเยือนครั้งนี้ของพี่น้องชาวเหนือมี 6 ด้านด้วยกัน คล้ายๆ กับภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะต้องมีการทำเพิ่มเติม

เรื่องที่ 1 คือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับที่ตั้งของภาคเหนือ เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ มีศักยภาพต่อยอดด้วยการท่องเที่ยวทั้งภายในภาคเอง เชื่อมกับประเทศซีแอลเอ็มวี และรวมไปถึงการท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ 1.ในเรื่องของการขนส่งทางอากาศ มีการ เราต้องมีการปรับปรุงท่าอากาศยานที่เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน รวมทั้งศึกษาความเหมาะสม มีการเสนอมาว่า เพื่อให้รองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร การท่องเที่ยวจำนวนมากในอนาคต เราต้องหารือกันว่า เราจะสร้าง หรือเพิ่มเติมท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 ได้อย่างไร เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่ 2 นอกจากทางอากาศแล้ว ต้องดูทางบกไปด้วยเชื่อมมอเตอร์เวย์เชียงใหม่ เชียงราย การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน เพื่อจะเชื่อมท่องเที่ยวมรดกโลก และการขยายช่องทางการจราจรทางหลวงแผ่นดิน เพื่อจะรองรับการเดินทาง และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน

เรื่องที่ 3 คือการศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องของการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา เราเร่งดำเนินการในเรื่องของรถไฟทางคู่ หรือทางเดี่ยวที่ยังไม่มี สำหรับรถไฟความเร็วสูงต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณ ในเรื่องของการลงทุนอะไรต่างๆ ความคุ้มค่าต่างๆ ด้วย เพื่อจะไปจัดลำดับความสำคัญ จัดความเร่งด่วน ทุกคนอยากได้ แต่ปัญหาคืองบประมาณว่าไง เราจะมีเงินเพียงพอหรือไม่ เราจะทยอยทำไปก่อนได้หรือเปล่าในบางพื้นที่ หรือเอกชนจะร่วมมือในลักษณะเป็นการลงทุนพีพีพี เรื่องนี้รัฐบาลพิจารณาอยู่แล้ว จะได้ตรงความต้องการของพื้นที่ อยากให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการให้มากยิ่งขึ้น ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมแล้ว เราจะภูมิใจรถไฟเส้นนี้เราก็เป็นเจ้าของเหมือนกัน อันนี้อยากให้ประชาชนได้เข้าใจตรงนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองมันก็ไปไม่ได้

ในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมมันต้องดูคู่กันไปหมด เพราะว่าพื้นที่ที่จะต้องทำทั้งหมด เป็นพื้นที่ของเอกชนส่วนใหญ่ ในเมื่อสรุปมาแล้วว่าต้องการ จังหวัดนั้นต้องการ พอถึงเวลาทำจริงๆ ก็ไม่มีปัญหา เพราะมันผ่านพื้นที่ของประชาชนเขา เพราะฉะนั้นท่านอยากได้ท่านต้องไปช่วยกันสร้างความเข้าใจด้วย รัฐบาลจะหามาตรการในการดูแลสำหรับผู้ที่มีเสียประโยชน์ไปบ้าง คงไม่ใช่ทั้งหมดหรอก อันนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม อันนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ในสิ่งที่จะต้องเข้าใจกันแบบนี้ ผมเห็นว่าโครงการเครือข่ายการขนส่งทางบกนั้น ในพื้นที่ของผม เพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้นผมพยายามหาวิธีการทำให้ได้ อันนี้เราทำสร้างใหม่ทั้งหมด ทำเส้นทางใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์ ไม่ว่าจะเป็นขยายเส้นทาง สร้างทางใหม่ บางทีพื้นที่มันไปไม่ได้ มันผ่านพื้นที่ป่า ป่าอุทยานฯ ซึ่งเราไปใช้มากๆ มันก็ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เรามาทำเครือข่ายเชื่อมโยงเส้นทางหลัก รอง ระหว่างอำเภอ จังหวัด ภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ... เพื่อจะเชื่อมพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ในลักษณะเหมือนเป็นเหมือนใยแมงมุม ทุกคนก็ลองนึกภาพใยแมงมุม บางทีมันก็ตรงไป และมีเส้นทางแยก เส้นทางอ้อม แล้วกลับมาเจอเส้นเดิม หรือจากนั้นก็ไปขยายตรงปลายทาง ถ้าขยายทั้งเส้นก็มีปัญหาหมด ฉะนั้นจะต้องไปเชื่อมโยงเหล่านี้ให้ได้ ให้เกิดการแตกแขนงออกไป ก็เหมือนเส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดกลางเส้นเลือดฝอย

ฉะนั้นทุกอย่างต้องเป็นเครือข่ายแบบนี้ มันเป็นเส้นทางการจราจร ไม่เช่นนั้นก็ติดขัดไปหมด ลงทุนมากก็ไม่มีสตางค์ ไม่มีงบประมาณ ฉะนั้นต้องหาวิธีทางใช้สติปัญญาในการวางแผน ผมได้สั่งย้ำไปกับกระทรวงคมนาคมไปแล้ว จะต้องเชื่อมโยงกันให้ได้ ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ ลดความแออัดในช่วงเทศกาลได้อย่างไร ประหยัดงบประมาณได้อย่างไร ลดอันตรายได้อย่างไร รถไฟจะไปต่อรถยนต์ได้หรือไม่ หรือไปต่อรถไฟฟ้า ถ้าต่างคนต่างทำก็เกิดปัญหาหมด สิ้นเปลืองงบประมาณ บางทีก็มีปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

เรื่องที่ 2.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ภาคเหนือ เราถือว่าเป็นแหล่งกำเนิด แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศไทย ทำให้ภาคกลางเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ก็ถือว่าเป็นเส้นเลือดหลัก ก็เหมือนจราจร ก็มีแม่น้ำ ลำคลอง คูต่างๆ ย่อยไป ถึงพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกับการจราจร เส้นทาง ต้องคิดแบบนั้น เพื่อจะหล่อเลี้ยงภาคการผลิต เกษตรกรรม อุตสาหกรรมของประเทศ รักษาระบบนิเวศ น้ำอุปโภคบริโภค เหล่านี้เป็นความจำเป็น 5 ประการ ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ที่จะต้องสนองตอบผู้บริโภคทั้ง 5 กลุ่มให้ได้

ขณะเดียวกัน ก็อาจจะสร้างความเดือดร้อน ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ในเรื่องของการบรรเทาอุทกภัย น้ำท่วมขังเป็นเวลานานซ้ำซากหลายปีมาแล้ว ทั้งน้ำแล้งก็เช่นกัน ถ้าไม่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เรียกว่าบูรณาการแล้วทุกกระทรวงต้องผ่านข้อมูลเดียวกัน เอาพื้นที่มาจัดมาวางแผนร่วม ใช้งบประมาณร่วมกัน ของแต่ละกระทรวงออกมาเสริมกัน ก็จะสำเร็จเป็นพื้นที่ไป ในการช่วยกันแก้ปัญหา ปัญหาหนักเป็นปัญหาเบาลง ปัญหาเบาก็ไม่มีปัญหา ทำนองนี้ ต่างคนต่างทำไม่มีวันสำเร็จ

ฉะนั้นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำหลักในภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนนั้น เราจำเป็นต้องมีการพิจารณาก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำ ศึกษาการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ซึ่งการผันน้ำมีปัญหางบประมาณสูง ในเรื่องของพลังงาน ทำอุโมงค์ หรือทำท่อปั๊มขึ้นไปในที่สูง เพราะพื้นที่แตกต่างกันมาก ภาคเหนือเป็นภูเขามาก ทำให้งบประมาณสูง ต้องไปหาวิธีการที่เหมาะสม ว่าจะต้องทำอย่างไร ผันน้ำสำหรับลุ่มน้ำ เราต้องมีการก่อสร้างฝาย ประตูระบายน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้มากยิ่งขึ้น ให้ความเร่งด่วนในการก่อสร้างประตูระบายน้ำ

ครั้งนี้ผมก็ให้ไปพิจารณาอยู่ใน ครม.ไปแล้ว ให้ทำแผนประตูระบายน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม เพื่อจะผันน้ำให้เลี่ยงเขตเศรษฐกิจในเขต จ.สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ที่ผ่านมาก็มีมูลค่าความเสียหายสูง จากในอดีตหากเกิดอุทกภัยขึ้น เช่นที่ผ่านมา เราต้องเร่งสนับสนุนการจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม

ที่เราใช้คำว่า แบบบางระกำโมเดล เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขัง ขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย หลังจากน้ำท่วมไปแล้ว เขาขอช่วงเวลาหนึ่งเพื่อที่จะเก็บกักน้ำเพื่อจะทำประมงน้ำจืดอยู่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาประชาชนมีความพอใจ เขาก็ยินยอมให้มีการทำเป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ก็เหมือนกับภาคกลาง ที่ให้เป็นแก้มลิง ปล่อยปลาลงไป และประกอบอาชีพกัน ประมงพื้นบ้าน ก็เป็นรายได้เสริม จนกว่าจะถึงฤดูกาลใหม่ในการเพาะปลูก ฉะนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ ทุกกระทรวงต้องร่วมมือกันช่วยกัน

เรื่องที่ 3.ด้านการเกษตร และการแปรรูป ก็ได้หารือในเรื่องของการสนับสนุนโครงการเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกทางภาคเหนือ ใช้ผัก ใช้ผลไม้ในการนำร่อง ที่เขาเสนอมาคือ กล้วยหอม ซึ่งเหมาะกับดินในภาคเหนือ สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว ขิง มะม่วง ข้าว ไผ่ และพืชสมุนไพร ส้มซ่า อะไรทำนองนี้ ก็มีหลายประเภทด้วยกัน เราจะต้องครอบคลุมการผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เพื่อจะเป็นอาหาร เป็นสินค้าส่งออก เป็นสินค้านวัตกรรม ให้ได้โดยเร็วเพื่อไปสู่อนาคตที่มันมากยิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น ผมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และให้ทุกกระทรวงได้สนับสนุนโครงการ คนละส่วน ใครรับผิดชอบตรงไหนก็ไปรับตรงนั้น ต้องคำนึงถึงการสอดคล้องกับการโซนนิ่งพื้นที่ไปด้วย

อยากให้ทุกคนไปดูแอปพลิเคชั่นเพื่อการเกษตร ที่เรียกว่า Agri-Map รวมทั้งการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ และแปรรูปสินค้าได้มาตรฐาน ตรงความต้องการของตลาด และความคุ้มค่าในการขยายผลต่อไป

เรื่องตลาด สำคัญ ผมก็เป็นกังวล ถ้าเราจะปลูกกล้วยหอม เพราะราคาดี ความต้องการของตลาดข้างนอกทั้งหมด 3 ล้านตัน 2 ล้านตัน และจะปลูกมากๆขึ้นไป ผมว่าจะเป็นปัญหา ต้องไปดูว่า เราปลูกมาแล้ว คือทุกประเทศเขาต้องการก็จริง แต่ทุกประเทศเขาต้องการเขาก็ไปหาที่มันถูก ที่ขนส่งได้อะไรด้วย เราจะไปหวังว่าจะส่งเองทั้งหมดมันไม่ใช่ คงจะเป็นไปไม่ได้ ท่านก็ต้องไปดูขีดความสามารถ การขึ้นทะเบียน การตรวจสอบต้นทาง เราจะขายใคร กล้วยหอมเขาต้องมาตรวจถึงแหล่งผลิตด้วยนะ ถึงการขนส่ง เขาไม่ต้องการให้มีโรคศัตรูพืชประเทศเขาด้วย และสินค้าที่มีคุณภาพ หน่วยงานที่สนับสนุนก็ต้องดูดีมานด์ ซับพลาย ให้ตรงกันด้วย

เรื่องที่ 4. เรื่องการค้า และการลงทุน เราก็เร่งสนับสนุน ในเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการค้า การค้าชายแดน จุดผ่านแดน เส้นทาง การท่องเที่ยว การลงทุนต่างๆระหว่างไทยกับเมียนมา เราต้องเร่งดำเนินการในเรื่อง Visa on Arrival ณ ด่านชายแดนไทย-เมียนมา การตกลงทวิภาคี การเปิดเดินรถส่วนบุคคล การอนุญาตให้รถขนส่งของเมียนมาเข้ามาขนส่งในฝั่งไทย ด้านแม่สอด จ.ตาก และเราก็ต้องเอารถของเราขนต่อไปยังฝั่งเมียนมาด้วย เป็นลักษณะเป็นการค้า หรือการขนส่งต่างตอบแทน ต้องเท่าเทียมกัน รวมถึงจะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันตกในพื้นที่ จ.ตาก พิษณุโลก และสุโขทัย จะได้พิจารณาการสนับสนุน การจัดงานแสดงศักยภาพสินค้าเกษตรของภาคเหนือ งานแสดงสินค้า และมีการจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อจะขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับภาคอื่นๆ มันมีโอกาสอยู่ ต้องสร้างความเข้าใจใกล้ชิดซึ่งกันและกัน ได้เห็นข้อเท็จจริง มีข้อมูล มีสินค้าให้เห็น จำเป็นต้องมีการจัดงานเหมือนกัน

เรื่องที่ 5.เรื่องการแพทย์ การบริการผู้สูงอายุ และสังคม เราจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บท ในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรภาคเหนือ ภาคอื่นๆก็ต้องทำเช่นเดียวกัน แต่พื้นที่ต่างกันเราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีศักยภาพและพร้อมจะดำเนินการโดยที่ไม่ต้องไปลงทุนต่างๆมากมายในระยะแรก รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการก็ต้องลดภาระของรัฐบาลในอนาคตด้วย ก่อนที่จะขยายผลสัมฤทธิ์ไปยังพื้นที่อื่นๆอีกต่อไป หลายอย่าง เหมือนตัดเสื้อคนละตัว คนละแบบให้แต่ละพื้นที่ เราต้องพิจารณา ผลักดันนโยบายเมืองสมุนไพร และการแพทย์แผนไทย ทุกคนได้มีอาชีพเสริมขึ้นมา ก็ขอให้ผ่านการอบรมและคุณภาพความสะอาดสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศของเราในเรื่องการแพทย์แผนไทย เราจะได้สามารถนำมาขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

สุดท้ายเรื่องที่ 6. ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงในปีที่ผ่านมาและปีนี้ด้วย ก็เพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ เป็น 10-20% ที่ผ่านมา ปีนี้ก็เท่ากับ 3.5 ล้านคนจนสิ้นปีนี้ เป็นสิ่งที่เรามีศักยภาพอยู่แล้ว เราเสริมไปนิดหน่อย ควบคุมคุณภาพ ไปดูแลไกด์ ร้านค้า ดูแลเรื่องทัวร์ เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะมีลูกค้ามาเอง ไม่ต้องไปเสียเบี้ยบ้ายรายทาง ทำให้มันถูก รัฐบาลนี้ต้องการทำให้ทุกคนกลับเข้ามาสู่วงจรการทำให้ถูกกฎหมาย ถูกต้อง ก็สบายใด้วยกันทั้งคู่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่เหนื่อย ประชาชนก็ไม่เครียด คนมาเที่ยวก็สบายใจ

เราต้องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนด้วย ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม มีส่วนแบ่งในรายได้นี้ด้วย ต้องไปดูกฎหมายอีกหลายตัว กฎหมายเรื่องที่พัก รัฐบาลปฏิรูปเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ใช่ว่าการปฏิรูปการท่องเที่ยวคือการเอาคนมาเที่ยวให้มากขึ้น แต่มันแก้ตั้งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค กฎหมาย เกี่ยวความรับผิดชอบ เขาถึงเรียกการปฏิรูปไง เพราะฉะนั้น อยากเรียนว่ารัฐบาลทำทุกเรื่องแบบนี้หมด

อีกประการหนึ่ง ที่ต้องการให้ชุมชนได้รับประโยชน์นอกเหนือการท่องเที่ยวคือ เรื่องของดิจิทัล เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผมอยากเน้นย้ำนะครับว่า รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะดำเนินโครงการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ จัดกิจกรรมให้พี่น้องประชาชน และพื้นที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด บ้านเมืองเรายังมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข เราอย่าทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เลย เรื่องใหญ่คือ เรื่องคนไทยของเรา ความยากจนของเราที่ต้องแก้ไขงบประมาณในการพัฒนาประเทศ เพราะยังไงวันหน้าเราต้องเจอปัญหามากกว่านี้ ภาระมากกว่านี้ ต้องคิดกันวันนี้ อย่ามัวติดขัดในเรื่องเดิมๆ อีกเลย ค่อยๆ แก้ไข ความเป็นอยู่ของประชาชนสำคัญกว่าอย่างอื่น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาแก้ไขกันอย่างไร แก้ถูกจุดหรือไม่ แล้ววันนี้หลายคนมาเร่งรัดรัฐบาลนี้ให้แก้ไขมากที่สุด ผมถามเวลาที่ผ่านมาได้ทำอะไรอย่างที่กำลังทำนี้หรือเปล่า ก็ไปย้อนคิดกัน

การกระจายรายได้ที่เหมาะสมมันจำเป็น มันมีความเลื่อมล้ำกันอยู่ เรื่องรายได้ต่างๆ ของคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ประการสำคัญคือมาตรการลดความยากจน ทุกจังหวัดต้องเร่งรัดมาตรการขั้นที่ 1 ภายใน 2 ปี ให้ได้

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ไปเป็นสักขีพยานในการมอบประโยชน์ในการทำที่ทำกินให้ผู้ว่าราชการ 14 จังหวัด รวม 21 พื้นที่ อันนี้ให้ประชาชนได้มีที่อยู่ที่อาศัยที่ทำกินให้ถูกต้อง ถูกกฎหมายการขอใช้ที่ดินของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่งั้นจะบุกรุกไปเรื่อยๆ บุกรุกก็ไปขาย ขายถูกขายผิดไม่รู้กัน และทุกคนทราบดี และไปบุกรุกใหม่ ต่อไปนี้ไม่ได้แล้วนะครับ ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถจะดูได้ เราจะจัดที่ทำกินให้โดยคณะทำงานจัดที่ดินของรัฐบาลนี้ จะจัดให้ทุกจังหวัด คือคนที่มันอยู่แล้ว คนที่มีที่อยู่อยู่แล้ว ปรากฎอยู่ในพื้นที่ป่าที่ผิดกฎหมาย ป่านั้น เสื่อมโทรม อพยพได้ไม่ได้ใช้กฎหมายเดิมนี่ละครับ แต่ขอร้องอย่าบุกกันอีกเลย พอได้แล้ว เดี๋ยววันหน้าจะไม่เหลือป่าไว้ให้คนรุ่นหลัง และไม่มีป่าสร้างฝน สร้างน้ำ สร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ให้เราใช้ดูแล อันตรายอย่างยิ่งนะครับ กว่าที่ดินอีก

เพราะฉะนั้น ต้องแบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน ร่วมกันเร่งสร้างศักยภาพ ขยายผลจากจุดแข็งที่มี ด้วยความได้เปรียบของทุกพื้นที่ ไปใช้ภูมิปัญญาของชุมชนไปขับเคลื่อน คือการขับเคลื่อนของชุมชนให้มองว่า ควรขับเคลื่อนอย่างไร ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถอยหลัง หรือจะหยุด ไม่ขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เวลาทำอะไรออกมา ไปไม่ได้หมด เห็นตรงกัน ไม่ชอบกัน ไม่ถูก นี้ไม่ได้ ไม่ยอมกัน หาข้อยุติให้ได้ ไม่งั้นจะไม่ได้ ปัญหาจะบานปลายเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องพลังงานเรื่องเกษตร เรื่องราคา สิ่งของไรต่างๆ ทั้งหมดอยู่ที่คนทั้งนั้น ข้าราชการจะบังคับทุกอย่างลำบาก และมีกฎหมายบางตัวบางอย่างซึ่งเราสามารถใช้ได้ ใช้ไม่ได้ กฎหมายระหว่างประเทศแก้ไขไม่ได้คือการค้าการลงทุน ต้องเข้าใจตรงนี้ เราคิดเองทำเอง ถึงแม้เป็นประเทศเรา แต่เราจำเป็นต้องค้าขายกับโลกภายนอกด้วย อันนั้น คือผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ เราต้องช่วยกันสร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนหนึ่งที่ผมกล่าวไปแล้วคือ การแก้ปัญหาเหล่านั้น จะแก้อย่างยั่งยืน ไม่เกิดขึ้นอีก คือเรื่องความเข้าใจ ความร่วมมือจากพี่น้อง รัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างให้ แต่ต้องไม่มีความขัดแย้ง หลายเรื่อง หลายโครงการจะติดปัญหา ดำเนินการไม่ได้ ส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ ส่วนหนึ่งไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งเห็นประโยชน์ก็เห็นด้วย แล้วมันจะไปกันอย่างไร ผมก็พยายามจะขับเคลื่อนให้ได้อยู่ ขอให้เร่งรัดรัดเรื่องเหล่านี้

ตัวอย่างโครงการที่ไม่คืบหน้า และเป็นโครงการที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ที่เรียกว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย คือมีคนเสีย แต่โดยรวมมันได้ แต่บางส่วนยังไม่เข้าใจ แต่เป็นพื้นที่ของประชาชน เอกชนจำนวนมากในการก่อสร้าง ที่สำคัญคือ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้แล้ว มีทั้งหมด 8 โครงการ ยังเหลือ โครงการอีก 1 โครงการที่ยังค้างอยู่ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปี 2531 มีน้ำท่วมใหญ่รอบ 50 ปี ในจังหวัดภาคใต้ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 6 แสนคน สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกินไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท อย่างที่ผ่านมา ทุกปี หากปัญหา ไม่ได้รับการแก้ไขจะทำอย่างไร ต้องช่วยกัน

เหตุอุทกภัยนั้น มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ปี 39 เสียหาย 63 ล้านบาท ปี 43 เสียหาย 692 ล้านบาท ปี 54 กว่า 2,300 ล้านบาท ประชาชนเดือดร้อนมาก พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน กรมชลประทานเริ่มศึกษาสภาพของปัญหาและแนวทางที่รัฐบาลแก้ไขมีส่วนร่วม ปี 2531-2545 รวม 14 ปี บัดนี้ 15 ปี ยังไม่มีความคืบหน้า รัฐบาลได้หยิบโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขึ้นมาใหม่ มาพิจารณาใหม่ หลังจากลงพื้นที่ภาคใต้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ได้เร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น จะต้องแบ่งการดำเนินการแก้ไขน้ำท่วมเป็น 2 ระยะ ระยะ1 คือระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ เขตเทศบาลเมือง พื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่เป็นการดำเนินการให้กับประชาชน ต้องแก้ไขให้ได้ การค้าธุรกิจสำคัญ

เรื่องที่ 2 ระยะยาว ข้อมูลทั้งในและนอกเขตเมืองอย่างเป็นระบบ โดยต้องหาพื้นที่เหมาะสมขุดคลอง ผันน้ำใหม่คือปัญหา เวลาขุดคลองต้องผ่านที่เยอะแยะ ระยะทางหลาย 10 กิโล เป็น 100 กิโล ก็มีนะ ต้องผ่านที่ ถ้าไม่ยอมให้ที่กัน มันก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเร่งพิจารณากันมา ภาคเอกชนก็ต้องช่วยกัน เอ็นจีโอ ทำยังไงเราจะเสียหายน้อยที่สุดในเรื่องน้ำท่วม ทำยังไงเราจะรักษาทรัพยากรไว้ได้ เหล่านี้เป็นเขาเรียก ได้นี่เสียนี่ มันต้องดูได้เสียคุ้มค่ากันหรือเปล่า การทำคลองผันน้ำใหม่ ถนนเลี่ยงเมือง หรือถนนที่ไม่ผ่านพื้นที่น้ำท่วม พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้ ต้องแก้ไขทั้งสิ้น ระบบระบายน้ำมีปัญหา การขยายคลองระบายน้ำเดิม 3 ฝาย หรือ ทาง 79 กิโลเมตร พร้อมประตูระบายน้ำอีก 7 แห่ง ควบคุมการผันน้ำลงสู่ทะเล ให้เดือดร้อนน้อยที่สุด เป็นโครงการที่ 8 ที่ผมว่าเมื่อสักครู่ โครงการพระราชทานไว้แล้ว ถ้าเราสามารถดำเนินการได้สำคัญ เราจะแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างยั่งยืนให้กับ 32,000 ครัวเรือน และเราจะสามารถกักเก็บน้ำสำหรับกินและใช้ และทำการเกษตรหน้าแล้งได้ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร จะครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์อีก 17,400 ไร่ ด้วย นั่นคือสิ่งที่มันได้

ส่วนเสีย คือ พื้นที่ หรือที่ดินบางคนต้องมีคลอง หรือทางระบายน้ำผ่าน ถ้าเราทำโครงการแบบนี้ไม่ได้ในทุกพื้นที่ ความเสียหายทุกอย่างจะมากขึ้น ภัยแล้ง อุทกภัย การจราจร การใช้พลังงานทุกอย่างมีปัญหาหมด เพราะว่าวันหน้ามีการขยายชุมชนมากขึ้น สร้างบ้านเรือนมากขึ้น ผังเมืองมีกำหนดไว้ ก็ไม่ปฏิบัติตาม หลายคนไปสร้างขว้างทางน้ำ หมู่บ้านจัดสรรต่างๆ ท่านต้องรับผิดชอบสังคมด้วยนะ รัฐบาลจะรับทุกอย่าง แก้ไม่ทันหรอกนะ เพราะคนไปอยู่แล้ว นั่นคือปัญหาที่ต่อเนื่องไปอีก

ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมานั้น พวกเราคนไทยด้วยกัน คงสัมผัสได้บ้างถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศในทางที่ดี ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การต่อเนื่องเชื่อมโยง มีแผนงาน ปัญหาอยู่ที่ทำได้หรือไม่ได้ ความเข้าใจในกรุงเทพและต่างจังหวัด ท่านอาจจะรับรู้ได้แล้วว่าบ้านเมืองสงบสันติมันเป็นอย่างไร ไม่มีการปิดถนนคนไทยไม่มีการตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไปมาหาสู่กันไม่ได้ วุ่นวาย การหยุดทุจริต การประสานพลังประชารัฐในแหล่งท่องเที่ยว เช่น กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดเก็บรายได้มากขึ้น จากเดิมเก็บได้ 600 ล้าน วันนี้เก็บเป็น 2,400 ล้านต่อปี แล้วบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร ผมว่าบางเรื่องมันก็ดีอยู่เยอะอยู่นะ ก็ลองรับทราบและสื่อให้คนเห็นว่าอะไรมันดีๆ บ้างก็แล้วกัน อะไรที่มันไม่ดีก็บอกมา เราจะได้แก้ไข ผมก็รับทั้งดี ทั้งไม่ดีนะ

อีกส่วนหนึ่งก็คือผู้มีรายได้น้อย สวัสดิการแห่งรัฐ มันก็อาจจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันไปบ้าง และการเดินทาง รวมทั้งรัฐบาลก็ได้ตัดสินใจในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ที่เราเรียกว่าเน็ตประชารัฐ ทุกคนต้องเรียนรู้จะได้ประโยชน์อย่างไร ไม่อย่างนั้นทำไปก็เสียเปล่า ช่วยพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ จากทั่วโลก เราจะไม่ถูกใครทิ้งไว้ข้างหลังในยุคดิจิตอล เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เรื่องการค้าด้วย การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การสาธารณสุข ทุกอย่างมันใช้ดิจิตอลทั้งสิ้นในวันนี้ รัฐบาลก็ทำไปบ้างแล้ว เพื่อจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ยังมีอยู่อีกมากที่ต้องรอการแก้ไข ก็ค่อยๆ ทำไป แผนงาน งบประมาณก็มีอยู่ วันหน้าใครเป็นรัฐบาลก็รับต่อไป แล้วทำให้มันดีขึ้นก็แล้วกัน รัฐบาลนี้ตระหนักในสิ่งเหล่านั้น เพราะมันเป็นปัญหามายาวนาน ทุกคนทราบดี เพียงแต่ว่ามันจะแก้ได้แค่ไหน อย่างไร เราต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง หาแนวทางแก้ไขให้ยั่งยืน

สำหรับความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เราจะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหนี้สิน ก็คือเรื่องกฎหมายการขายฝาก ผมทราบว่ามีปัญหามาก อาจจะมีข้อสรุปได้ในไม่ช้า ผมได้ยินมาเกือบ 40 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนหนังสือมาแล้วว่า เกษตรกรรายย่อยมักสูญเสียที่ดินทำกินไปเพราะไปทำสัญญาขายฝาก เพราะความยากไร้ ขาดเงินทุน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ อย่างเช่นธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ ต้องหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ก็อาจจะถูกนายทุนเจ้าของเงินกู้เรียกร้องให้นำโฉนดที่ดินมาเป็นหลักประกันโดยการทำสัญญาขายฝาก โดยพี่น้องเกษตรกรเหล่านั้นไม่รู้ทั้งเนื้อหาของสัญญา ไม่รู้ทั้งกฎหมายขายฝาก สมัยก่อนบางทีก็อ่านหนังสือไม่ได้ด้วย ไม่ได้ว่ากันนะ

ที่หลักการตามกฎหมายเขาเขียนไว้ว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะตกเป็นของผู้รับขายฝากโดยทันที เรื่องกฎหมายท่านต้องเรียนรู้ด้วย ยกเว้นแต่ผู้ขายฝากจะมาไถ่ถอนตามกำหนดเวลา ถ้าไม่ไปถอนตามเวลาก็ทันที เราเสียเปรียบตลอดนะถ้าเราไปยอมเขาแบบนั้น แต่ทุกคนเดือดร้อน จะทำอย่างไรล่ะ ผู้รับขายฝากก็สามารถไปจดทะเบียนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินนั้นได้เลย ทำกันง่ายๆ ที่สำนักงานที่ดิน ง่ายกว่าการบังคับจำนองเสียอีก บางทีถึงเวลากำหนดไถ่ถอนการขายฝาก นายทุนเงินกู้ก็ไม่อยู่ ไม่ว่างเสียดื้อๆ เพื่อให้มันเลยเวลาไป มันเอาเปรียบซึ่งกันและกันอย่างนี้ไม่ได้นะ มันต้องช่วยเหลือกันสิครับ เกษตรกรมีเงินไปไถ่ถอนก็ทำไม่ได้ เลยเวลา ผมคิดว่าหมดไปแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่นะ เมื่อ 1-2 เดือนก่อนก็ยังมีคดีฆาตกรรมยกครัวที่จังหวัดภาคใต้ สืบสาวราวเรื่องปรากฏว่ามีสาเหตุจากการขายฝาก เรื่องแบบนี้ผมคิดว่าต้องแก้ไขปัญฆาให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อยให้ได้ เรื่องการเอาเงินทุนมา มาลงทุนในแต่ละคร็อป แต่ละฤดูกาล บางทีก็เอาเงินของนายทุนมา เจ้าของโรงสีบ้าง เจ้าของโรงน้ำตาล โรงหีบอ้อยบ้าง ซึ่งโอเค มันเป็นระบบนะ ซึ่งมันก็จำเป็นนะบางครั้ง แต่บางครั้งก็ต้องไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ประชาชนก็ต้องรู้กฎหมาย เอาของเขามาแล้วก็ต้องเป็นหนี้ตลอดไป ทุกครั้งๆ ก็เหมือนกับปลูกไปก็ไม่ได้ไปขายใคร ก็ต้องขายเจ้าหนี้นั่นล่ะ แล้วท้ายที่สุดที่มันก็หายไป เนี่ยผมก็จะเน้นเรื่องนี้ ให้แก้ไขให้ได้ปีนี้และปีหน้า เราจะต้องแก้ไขอย่างไร เราจะยกเลิกกฎหมายขายฝากหรือเปล่า หรือจะแก้ไขเพิ่มเติม ให้พี่น้องเกษตรกรคนยากคนจนมีหลักประกันคุ้มครองให้มากยิ่งขึ้น นี่ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้ก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นต้องช่วยผมให้ทำให้ได้ มันจะเกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่

พวกบรรดานายทุนต่างๆ ผมไม่ได้ว่าท่านไม่สุจริตนะ ท่านต้องเห็นใจคนจนเขาบ้าง จะทำอย่างไรไม่ให้เขามาว่าเราว่าเราเป็นนายทุน เอื้อประโยชน์นายทุน อยู่แบบนี้ ผมว่ามันต้องลดแล้วล่ะ ลดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้ ลดช่องว่างของรายได้ให้ได้มากที่สุด มันเท่ากันไม่ได้อยู่แล้ว

ถ้าหากว่าเรามีมาตรการทดแทน เราก็จะสามารถทำให้เกษตรกรคนยากคนจนได้มีแหล่งเงินทุนใช้ยามวิกฤตโดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับการสูญเสียที่ดิน หลายเรื่องก็ทำอยู่ กำลังทำอยู่ทั้งหมดนะ ธนาคารที่ดินก็มี เพียงแต่ว่ามันระยะเริ่มแรก การที่จะทำให้มันขยายออกไปให้มันทั่วถึง มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะใช้เงินจำนวนมาก ต้องทำกฎหมาย ทำทุกอย่างให้มันพร้อม เรื่องนี้ผมก็ได้ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไปบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนในการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขแล้วทั้งระบบ ก็คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อดำเนินการก่อนในโอกาสแรก ไม่ต้องไปรอการปฏิรูปในกรอบใหญ่ เพราะเวลามันไม่คอยท่า มันจะได้สอดคล้องกับมาตรการ โมเดล ที่เราเรียกว่าโมเดลลดปัญหาความยากจนทั่วประเทศ ก็หลายสิบจังหวัดยังมีปัญหาเรื่องความยากจนต่ำกว่าเกณฑ์พื้นฐาน จีดีพีรายหัว

สุดท้ายนี้ อีกไม่กี่วันเราก็จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่แล้ว สิ่งที่ผมคาดหวัง เช่นทุกคนเหมือนกัน ก็คือการเห็นบ้านเมืองของเรามีความสุขมากขึ้น คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น รัฐบาลก็พยายามจะมองไปข้างหน้า แล้วก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์ คาดการณ์ล่วงหน้าถึงความเป็นไปได้ในหลายๆ มิติ เพื่อให้คนไทยและประเทศไทยก้าวทันเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผมอยากให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันมองเห็นภาพอนาคตจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อันจะเป็นโครงการนำร่องของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ วันหน้ามันก็จะเกิดด้านตะวันตก ด้านภาคใต้ ภาคเหนือก็ได้ ระยะแรกขอแบบนี้ไปก่อน เพื่อจะทำให้ทุกภูมิภาคเข้มแข็งและมียุทธศาสตร์การดำเนินการตามนโยบายและเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของเราในการขับเคลื่อนประเทศ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นรูปธรรม เราต้องอยู่ร่วมกันทั้ง 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 ให้มันเกิดภาพที่จับต้องได้จริง

ที่รัฐบาลต้องการมอบเป็นของขวัญให้กับคนไทยทุกคนก็คือของขวัญให้กับลูกหลานของท่านด้วย ให้เข้าถึงโอกาสดีๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพดี มีการศึกษาที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคต แต่การที่เราจะพัฒนาทุกอย่างได้นั้น เราต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชาติ ผมเชื่อว่าการประชาสัมพันธ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนนั้น ก็จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจความสำคัญของการพัฒนาและสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ภาพยนตร์สั้นที่ท่านจะได้ชมต่อไปนี้ จะเป็นภาพอนาคตอันใกล้จากผลลัพธ์ของโครงการอีอีซี โดยจะแสดงให้เห็นว่าคนไทยทุกคนล้วนมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องและได้ประโยชน์ในอีอีซี ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งเกษตรกรยุคใหม่ SMEs, Start Up เยาวชนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งประชาชนเดินดินทั่วไป ก็ได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของอีอีซีมากมาย เพราะจะเป็นแหล่งบ่มเพาะ พัฒนาคนไทยรุ่นใหม่ที่มีความคิดมีการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ สามารถค้นคิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีการฝึกฝนทักษะอาชีพที่ต้องตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก และสามารถที่จะเรียนจบ ศึกษาจบ หรือไปต่างประเทศมาก็กลับถิ่นฐานบ้านเกิด พัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ทำงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน จังหวัด กลุ่มจังหวัด หมู่บ้าน ใกล้ครอบครัว เราก็ต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่เข้มแข็ง ที่ยั่งยืน แล้วก็ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวเชื่อมโยงท้องถิ่น ประเทศไทย และโลก

ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนและครอบครัวมีความสุขในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่สดใส เต็มไปด้วยความหวัง เดินทางไป-กลับโดยสวัสดิภาพ ปลอดภัยทุกคน ก็ขอเชิญรับชมภาพยนตร์สั้น ภาพแห่งอนาคตของอีอีซี ของประเทศไทยได้ครับ ขอบคุณนะครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น