xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 15 ธันวาคม 2560

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนอีกครั้ง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนด้วยตนเอง ครั้งนี้ไปที่ จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากต้องการจะสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน กาฬสินธุ์นับว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้อยู่ในระดับต่ำ มีสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยกว่าร้อยละ 32 มีผู้ขึ้นทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 300,000 คน

ทั้งนี้ กาฬสินธุ์นั้น ก็มีพื้นที่เกษตรกรรม 53% มีทรัพยากรป่าไม้ 10% มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และวัฒนธรรมอีกมากมาย แต่เนื่องจากขาดการลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานาน เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆจากแหล่งผลิต สู่โรงงานแปรรูปและตลาดภายนอก รวมทั้งขาดการบริหารจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ทำให้ประชาชนยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ เท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และโครงการพัฒนาต่างๆ ได้เห็นชอบให้ดำเนินการได้ตามความเร่งด่วน ดังนี้

1.การก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 12 เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางยาว 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองด้านทิศเหนือ ระยะทาง 32 กิโลเมตร เพื่อจะเชื่อมโยง แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกสู่ตะวันตก รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงเส้นอื่่นๆอีก 3 เส้นทาง ให้ได้มาตรฐาน ระยะทางรวม 65 กิโลเมตร ซึ่งมีปริมาณการใช้เส้นทางรวม 40,000 กว่าคัน เพื่อเชื่อมกาฬสินธุ์กับกลุ่มจังหวัดอีสานเหนือ

2. แนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บ และอุโมงค์ผันน้ำเดิม โดยการสร้างฝาย และอาคารพักน้ำ รวม 7 โครงการ ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ราว 18,000 ครัวเรือน คาดว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 270 เป็น 550 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมูลค่าเพิ่มขึ้น 16 ล้านบาทต่อปี

3.แนวทางพัฒนา ด้วยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นบ้าน ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกว่า 800 ราย มีผู้ประกอบการผลิตผ้าไหม และแปรรูป กว่า 1,300 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับผ้าไหมแพรวา ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปออกสู่ตลาดสากล และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำคัญในท้องถิ่น ได้ขับเคลื่อนงานวิจัย ปรับปรุงพันธุ์หม่อน ศาสตร์ด้านผ้า พัฒนาเส้นใย กระบวนการย้อม และการทอ การออกแบบลวดลาย ทั้งอนุรักษ์ และร่วมสมัย รวมทั้งการพัฒนาทุนการวัฒนธรรม และแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งทอพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนี้ ผมได้อนุมัติเครื่องสาวไหม 5 เครื่อง และขยายศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการเส้นทางสายไหมในประเทศไทยเพื่อจะเชื่อมโยงไปทุกพื้นที่อีกด้วย

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นแล้ว ผมและคณะรัฐมนตรี มีความประทับใจอย่างมากที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตพื้นบ้านพี่น้องชาวภูไท โดยเฉพาะการอนุรักษ์เครื่องแต่งกาย ด้วย ผ้าไหมแพรวาที่งดงาม

ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน สถาบันการศึกษา ซึ่งผมก็หวังว่า หากเราทุกคนร่วมมือกัน ด้วยความเข้าใจแล้ว เราก็จะมีอนาคตร่วมกันที่ดี โดยเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามศาสตร์พระราชา และตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เคยมีพระมหากรุณาธิคุณกับชาวกาฬสินธุ์ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานแนวโน้มการเติบโต และมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิค ระยะยาว โดยระบุว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก กล่าวคือ มีประชากรที่เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และมีสัดส่วนของประชากรที่ก้าวสู่รายได้ระดับปานกลางในสัดส่วนที่สูงขึ้น ที่ไม่มีผู้อยู่ในความยากจนตามเกณฑ์ของธนาคารโลกแล้ว

อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเที่เขาวิเคราะห์มา เราต้องดูในข้อเท็จจริงว่า เราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงพออยู่แค่นี้ไม่ได้ ธนาคารโลกเสนอว่า การที่จะลดระดับความยากจน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรต้องทำตามมาตรการ 3 ด้าน พร้อมๆกันอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ 1.การให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับประชาชน ผ่านการสร้างงานที่ให้รายได้สูงขึ้น และการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

2.การสร้างความมั่นคงทางรายได้ ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านการมีระบบการดูแล ด้านสังคม สาธารณสุข ประกันสังคม และการส่งเสริมการออม

3.การกระจายผลประโยชน์เศรษฐกิจ สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ผ่านการใช้เครื่องมือ เช่น ภาษี หรือเครื่องมือทางการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวนับว่า สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งเรากำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 อีกด้วย

จากการรายงานของธนาคารโลกดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นข้อมูลจากสายตาคนภายนอก ที่เขามองเราในมุมมองที่ดีขึ้น ผมอยากให้พี่น้อง ประชาชนมั่นใจว่า สิ่งที่เรากำลังเดินหน้า ไม่ได้เป็นก้าวย่างที่ช้า แต่จะมั่นคง และอยู่ในทิศทางที่น่าจะถูกต้องแล้ว ซึ่งต้องอาศัยความเพียร และความอดทน

รัฐบาลไม่่ได้พอใจเพียงเท่านี้ เนื่องจากมีปัญหาที่รอคอยการแก้ไขอีกมาก โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ในขณะที่หลายสิบปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยจะมีการลงทุนเพื่ออนาคต อันที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการผลิตของประเทศมากนัก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ก็ส่งผลให้ทุกวันนี้ การกระจายรายได้ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังไปได้ไม่ทั่วถึง

ขณะนี้เราได้จัดทำโมเดลในการลดความยากจนภายใน 2 ปี อย่างแรก โดยใช้โมเดลของกาฬสินธุ์ Happiness 2019 เป็นแนวทางที่จะทำต่อไปทั้งประเทศ ก็จะเริ่มไปพร้อมๆกัน รายละเอียดตามหน้าจอ สรุปได้ดังนี้ มี 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1.การค้นหาครัวเรือนยากจน โดยใช้เกณฑ์รายได้ การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ และการคัดเลือกโดยประชาคมระดับหมู่บ้าน

2.กลไกในการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึงระดับหมู่บ้าน เช่น ชุดกรรมการตำบล กรรมการหมู่บ้าน ตลาดชุมชน และกลุ่มองค์กรในหมู่บ้าน เป็นต้น

3.กิจกรรมการขับเคลื่อน อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนเพื่อจำแนกสถานะ การส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสม เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การทำแผนชีวิต การฝึกวิชาชีพ การอบรม และศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น

4.การติดตามและประเมินผล จากคณะทำงานระดับต่างๆ เพื่อจะพิจารณาส่งเสริมต่อเนื่อง หรือต่อยอดแล้วแต่กรณี ซึ่งจะเป็นการให้รางวัล เชิดชูเกียรติสำหรับครัวเรือน กลุ่มอาชีพชุมชน ที่ประสบความสำเร็จด้วย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาการเกษตรและเศรษฐกิจเท่านั้นที่ประชาคมโลกให้การยอมรับว่าประเทศไทยของเรา ยังมีข่าวดีในเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปอียู ได้เห็นชอบที่จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย ด้วยตระหนักถึงบทบาทความสัมพันธ์ของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานการเจรจา และสนับสนุน การขยายความร่วมมือ ระหว่างเรากับอียู และอาเซียน ประสบความสำเร็จต่อทางการเมืองในทุกระดับ ระหว่างเรากับอียู ก็จะกลับเข้ามาสู่ระดับปกติ

ทั้งนี้ ก็ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ว่า เราอาจจะกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรป - ไทย ก็จะเป็นช่องทางหนึ่ง ในการที่จะขยายกลุ่มประเทศคู่ค้าออกไป และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ต่างประเทศได้ตระหนักถึงความตั้งใจนี้ ก็คงไม่เท่ากับที่พี่น้องประชาชนจะเปิดใจรับรู้ รับฟัง รับทราบ ในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ก็อยากให้มองเห็นในสิ่งที่ดีๆ และช่วยกันเสนอแนะต่อยอด ชี้ปัญหาและช่องโหว่ ที่รัฐบาลจะช่วยดำเนินการได้ เพื่อจะให้การเดินหน้าไปด้วยความราบรื่น เราต้องอาศัยความร่วมมือกัน ช่วยกันเสนอแนะ ช่วยกันติเพื่อก่อ แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ เราสามารถทำกรอบใหญ่ได้มากพอสมควร โดยได้รับการยอมรับจากภายนอก เราอย่ามาทำลายความเชื่อมั่นเหล่านี้ ด้วยพวกเราเองเลย เราจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งภายในไปพร้อมๆ กันด้วย

พี่น้องประชาชนที่รัก ในปีหน้า 2561 ก็จะเป็นปีพิเศษ เป็นปีแห่งการเปิดกว้างทางโอกาส สำหรับคนไทย และประเทศไทยที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เห็นได้จากการประชุมเวทีเอเปค และอาเซียนซัมมิต เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาของบ้านเมืองเราไม่เพียงจะเชื่อมโยงกับอาเซียนเท่านั้น แต่ก็ได้ขยายตลาดทางโอกาสไปสู่อาเซียนบวก 3 บวก 6 และ บวก 9 โดยมีอาเซียนอยู่ตรงกลาง กรอบความร่วมมือใหม่นี้ และประเทศของเราก็เป็นศูนย์กลางของอาเซียนอีกชั้นหนึ่ง

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป ก็เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่สำคัญมากสำหรับบ้านเมืองของเรา และทุกคน อยากจะบอกว่าโอกาสจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความพร้อมเท่านั้น

เมื่อประตูแห่งโอกาสปิดตัวลง หากเราไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ที่เราจะได้รับโอกาสที่ดีในลักษณะนี้อีก ก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกัน ร่วมมือกัน ที่ผ่านมา หากเราไม่มีความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มัวแต่ขัดแย้งกัน และมีปัญหาภายในกันเอง ไม่ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้นในเรื่องของการขัดแย้ง การแบ่งแยก การไม่มีเสถียรภาพ มันก็ทำให้ประเทศของเราไม่ต่างอะไรกับคนป่วย และเราไม่สามารถจะมีความพร้อมที่จะไปแข่งขันกับใครได้ในโลกใบนี้อีกต่อไป เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ไม่อาจจะสร้างความมั่งคั่งเกิดขึ้นมาได้ วันนี้เราต้องฟื้นฟูคนป่วยให้เป็นนักกีฬาด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ตั้งแต่ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเงินทุน ทำให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าออกสู่ตลาดระดับโลก และตลาดออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ซึ่งต้องอาศัยพลังแห่งความร่วมมือจากกลไกลประชารัฐในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สิ่งเหล่านี้เราไม่อาจจะรอรีได้ สำคัญกว่าอย่างอื่น เพราะทุกประเทศ ต่างก็มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และต่อเนื่อง เราต้องเร่งขจัดอุปสรรคภายในให้หมดสิ้น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปรับปรุงกฎหมายที่ยังไม่มทันสมัย ไม่เป็นสากล และที่สำคัญที่สุด ก็คือการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระบบ เป็นต้น

พี่น้องประชาชนที่รัก สำหรับดัชนีรายได้เกษตรกรปี 2560 มีทิศทางที่แจ่มใส โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น ราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2559 จากผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ต่างๆ และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง เป็นต้น

โดยยางพารา กับเรื่องปาล์มน้ำมัน ก็กำลังจะแก้ปัญหา เนื่องจากปริมาณเรามีจำนวนมาก และราคาผลผลิตก็ตกต่ำ อันนี้เราก็กำลังดำเนินการอยู่ ก็ขอให้พี่น้องใจเย็น ผมเข้าใจความเดือดร้อน แต่ต้องหาวิธีการแก้ที่เหมาะสม

อีกประการก็สืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำ ที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ในช่วงปีที่ผ่านมา เราก็ค่อยทำไปเรื่อยๆ ในเรื่องของการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ และดำเนินการมาเป็นระยะ ตามงบประมาณที่มีอยู่ ก็สามารถทำให้ทุกภูมิภาคของประเทศ ได้สามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น และยังมีน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับทำการเกษตรฤดูแล้วปี 2561 อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องใช้อย่างประหยัดในเรื่องของการทำนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปรัง

ส่วนหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2560 ก็มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2559 หากจะพิจารณาให้ดีแล้วก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่ หรือกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการกู้ยืมเงินระยะสั้น สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ก็คือการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ใช่การสร้างหนี้ที่เกิดจากการไร้วินัยการออม หรือฟุ่มเฟือย จากการสร้างดีมานด์เทียม แต่เป็นการดำเนินงานที่มีแผนงานทั้งในการผลิตและการเก็บรักษาผลผลิตเพื่อรอการจำหน่าย ทั้งนี้ หนี้สินดังกล่าวก็สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวภาคเกษตรโดยรวม และสอดรับกับรายได้ทางการเกษตรของครัวเรือนปี 2560 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2560 ประเมินว่าเศรษฐกิจภูมิภาคของไทยจะขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาค เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่หนี้ครัวเรือนของไทยก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลมีอีกหลายมาตรการที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่พี่น้องเกษตรกร ขอเพียงรับฟัง ทำความเข้าใจ อย่าบิดเบือน แล้วก็ร่วมมือกับรัฐบาล ทุกอย่างมันก็ค่อยๆ ดีขึ้นเอง วันนี้ก็เป็นตัวเลขที่เขาคัดกรองมา ที่เขาพิจารณามาด้วยทางวิชาการ ในส่วนของการปฏิบัติรัฐบาลก็ติดตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ข้างล่าง ก็จะเห็นว่าเราก็มีหลายแพคเกจออกมาในขณะนี้ เช่น

1. แพคเกจช่วยหนี้เกษตรกร ก็จะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินพร้อมกับฟื้นฟูอาชีพการเกษตร ในรูปแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล ครัวเรือน ด้วยการทำแผนฟื้นฟู การประกอบการอาชีพรายบุคคล อยู่ในแผนมาตรการแก้หนี้สินเกษตรกรทุกสาขา ซึ่งจะมีทีมงานลงพื้นที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ฟื้นฟูหนี้สิน บรรเทาความเดือดร้อน เพื่อจะให้หลุดพ้นภาระหนี้เดิม ทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ มันพันกันไปพันกันมามาโดยตลอด

2. การทำไซโล/ยุ้งฉาง เพื่อเก็บผลผลิตทางการเกษตร สำหรับชะลอสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดไม่ให้คับคั่ง เพราะว่าบางทีมันออกมาสู่ตลาดพร้อมกันจนราคาตกต่ำ อาจจะต้องมีไซโลเก็บไว้เพื่อทยอยออกมาได้ คล้ายกับหลักการแก้มลิง ที่เอาน้ำไปพักไว้ก่อน ตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วค่อยๆ ปล่อยออกมาตามความต้องการแท้จริงของตลาด

ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อจะช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560 - /2561 ซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีวงเงินกว่า 87,000 ล้านบาท เรามีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยดูดซับข้าวจากระบบได้ราว 12.5 ล้านตัน ประกอบด้วย 3 โครงการ ก็คือ

- โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าว เป็นการมอบสินเชื่อแก่ชาวนาในสัดส่วนร้อยละ 90 ของราคาตลาด ผ่าน อคส. มีการจ่ายค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าว 1,200 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ รวมทั้งมีค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางอีก 1,500 บาทต่อตัน

- โครงการให้สินเชื่อกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มสถาบันเกษตร วิสาหกิจชุมชน สำหรับรวบรวมข้าวจากชาวนาและนำไปแปรรูป ในอัตรา 12,000 บาทต่อตัน ส่วนรัฐบาลก็จะชดเชยดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่ง

- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าว ในร้อยละ 3 เพื่อรวบรวมข้าวจากเกษตรกร เพื่อเก็บไว้ในสตอก 2-6 เดือน

3. การส่งเสริมให้รวมกลุ่มในวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ที่เข้มแข็ง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างเกษตรกรรมของไทย เนื่องจากประเทศไทยมีเกษตรกรรายย่อยมาก รวมกลุ่มกันไม่ได้ ทำให้การบริหารจัดการยาก การใช้งบประมาณก็เป็นเบี้ยหัวแตก ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยรัฐบาลก็จะสนับสนุนการเรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าการเกษตร 800 กว่าแห่ง กับอีก 10,000 เครือข่ายสาขาทั่วประเทศ เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ใช้การรวมกลุ่มเป็นพลังขับเคลื่อน นำการบริหารจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรแต่ละประเภท ทั้งการเพาะปลูก ประมง ปศุสัตว์ มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการผลิตร่วมกัน ปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม มีการส่งเสริมโซนนิ่งแบบ agri-map เข้าไปช่วย ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ควบคู่ไปกับการทำเกษตรสมัยใหม่ เพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยง จากภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของการปลูกพืชหลังนาด้วย การเลี้ยงสัตว์

4. การสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร

จากที่กล่าวมาแล้วก็จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ติดตามปัญหาพี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มด้วยความเป็นห่วงเสมอ ไม่ได้นิ่งเฉย มีการปรับแผน มีการคิดหามาตรการต่างๆ ตลอดมาในทุกพืช พืชทุกชนิด ไม่ได้ทอดทิ้ง มีความห่วงใยเสมอ ผมก็อยากให้กำชับให้ทุกหน่วยงาน ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้า และปฏิบัติงานให้สมบูรณ์ครบถ้วน มีความเข้าใจ และสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้ แก้ปัญหาได้ ให้ทันต่อสถานการณ์ ถ้าท่านแก้ไม่ได้ ก็แจ้งขึ้นมาให้หน่วยงานเหนือของท่านเขาแก้ขึ้นมา ถ้าแก้ไม่ได้อีก รัฐบาลก็จะแก้ให้ แต่ผมคิดว่าหลายๆ ปัญหามันแก้ได้บ้าง ดังนั้นเราต้องทำงานเชิงรุก ทำงานด้วยข้อมูล ทำงานด้วยความรู้ทางวิชาการ ความรู้ในการบริหาร ด้วยการเข้าหาประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ลงพื้นที่บ่อยๆ ผมก็จะขอดูการเยี่ยมลงพื้นที่ของทุกกระทรวงต่อไปนี้

ส่วนพี่น้องเกษตรกรเองก็ขอให้ติดตามข่าวสารในทุกช่องทางที่เรามีอยู่ด้วย ทางมือถือ วิทยุ โทรทัศน์ หรือจะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยตรง อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง ก็ขอให้ใช้กลไกของชุมชน ท้องถิ่น ในการกระจายข่าวสาร อาทิ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว ให้ได้รับรู้โดยทั่วกัน

สำหรับข้าราชการ เวลาประชุม ตรวจงานต่างๆ ขอให้พักโรงแรมในพื้นที่ที่ค่อนข้างจะมีคนไปพักน้อย ภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน ขอให้ไปประชุมนอกสถานที่บ้าง ในพื้นที่ที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ และจ้างงาน ทำให้บ้านเมืองมีชีวิตชีวาขึ้น อันนี้ก็สามารถทำได้ นี่ผมกล่าวถึงว่าถ้าต้องไปตรวจงานอยู่แล้ว ก็ไปใช้บริการเขาด้วย

พี่น้องประชาชนที่รักครับ ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม สิ่งหนึ่งที่จะอยู่คู่กับสังคมของเราก็คือ ตลาด ซึ่งเป็นปลายทางของวงจรเกษตรกรรม ตลาดคลองผดุงฯ ที่ผมริเริ่มขึ้นมาหลายปีมานี้ เป็นมากกว่าตลาดสดทั่วไป แล้วก็เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า จับคู่ธุรกิจ กิจกรรมชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นไปด้วยในตัว ปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 31 ครั้ง มียอดผู้ประกอบการกว่า 7,800 ราย มีผู้เข้าชมตลาดและร่วมกิจกรรมประมาณ 3,800,000 คน มียอดการจำหน่ายและสั่งซื้อสินค้ามากกว่า 1,900 ล้านบาท โดยจะปิดตลาดลงในปีนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ภายใต้ชื่องาน "สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุง 2560" ระหว่างวันที่ 12 - 27 ธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ขยายผลสำเร็จดังกล่าวไปสู่ตลาดประชารัฐ ซึ่้งได้เปิดตลาดพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นมากกว่า 120,000 ราย ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มผู้ค้าในชุมชน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย โดยนำสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งสินค้า OTOP และ CPOT สินค้าทางวัฒนธรรม เข้าไปจำหน่ายในตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ของกรมการพัฒนาชุมชน และตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

สำหรับผลการดำเนินงาน จากการเปิดตลาดประชารัฐพร้อมกัน 6,520 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 5-7 ธันวาคม ที่ผ่านมา เป็นเวลา 3 วัน มียอดผู้ประกอบการรายใหม่เกือบ 48,000 ราย มีประชาชนชมงาน ร่วมกิจกรรม และอุดหนุนสินค้า เกือบ 500,000 คน รวมมูลค่าการค้าขายและสนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ราว 69 ล้านบาท อีกทั้งเพิ่มมูลค่าการค้าขายให้กับผู้ประกอบการรายเดิมตลาดนั้นๆ ด้วย ก็มีอยู่แล้วเราก็เสริมเข้าไป ให้มันสะดวกขึ้น มากขึ้น ประชาชน ผู้ค้า เข้าถึง ในหลายพื้นที่ก็มีการจัดระเบียบไป วันนี้เราก็เอาเขากลับมา มาหาที่ค้าขายให้เขา

เป็นสิ่งที่น่าดีใจนะครับ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการริเริ่มตลาดนี้ และผมก็ได้รับรายงานว่ามีบางตลาดมีการขยายผลเชื่อมโยงกัน กับแผนพัฒนาชุมชนของตนเอง เช่น ตลาดน้ำวัดโตนด จ.นนทบุรี ได้ก่อตั้งจากเงินทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เมื่อ 6 เดือนก่อน ปัจจุบันรวมกับโครงการตลาดประชารัฐของรัฐบาล ทำให้ร้านค้าที่เดิมมีเพียง 40 ร้าน เพิ่มเป็นกว่า 100 ร้าน มีประชาชนมาเที่ยวชมและจับจ่ายใช้สอย จนทำรายได้เพิ่มจากปกติวันละ 40,000 บาท เป็น 140,000 บาท

นอกจากจะทำให้ชุมชนมีรายได้แล้ว ยังจะช่วยสร้างความสามัคคีในชุมชนอย่างมากอีกด้วย ทำให้กลุ่มกรรมการวัดโตนด กลุ่มชุมชนตลาดน้ำวันโตนด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มชาวสวน ได้มารวมตัวกันช่วยบริหารจัดการตลาด และร่วมกันหารือ คิดค้น ริเริ่ม สร้างสรรค์ ให้มีการส่งเสริมใหม่ๆ เป็นการต่อยอด อาทิ การตักบาตรพระริมน้ำ การแข่งเรือพาย และการแข่งอ่านสักวา เป็นต้น ในอนาคตต่อไปก็จะมีการนำเที่ยว ล่องเรือชมคลองอ้อมนนท์ มรดกโลกทางวิถีชีวิตดั้งเดิมริมน้ำอีกด้วย ก็ขอให้ทุกพื้นที่นำแนวทางเหล่านี้ไปขยายของตัวเอง

สุดท้ายนี้ผมขอแนะนำอีก 2 กิจกรรมที่มีความสำคัญสำหรับสังคมเกษตรกรรมของเรา โดยเฉพาะชาวนา และสินค้าท่องเที่ยวของไทย อันได้แก่ 1. เทศกาลข้าวไทย 2560 (Thai Rice Festival 2017) ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 15-20 ธันวาคมนี้ นอกจากจะสามารถซื้อหาข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ จากเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว ก็จะมีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวข้าว และภูมิปัญญาวิถีชาวนา รวมทั้งเมนูอาหาร การใช้ประโยชน์จากข้าว และสินค้าแปรรูปจากข้าวอีกด้วย

ข้าวอีกพันธุ์หนึ่งที่ผมเคยพูดไปแล้ว คือข้าวพันธุ์ กข 43 วันนี้ก็อยากให้ไปหาทานในท้องตลาด อาจจะหายากสักหน่อยในขณะนี้ เพราะเป็นล็อตแรกที่ออกมา เป็นข้าวที่เรามุ่งหวังจะให้เป็นข้าวสุขภาพ เพื่อจะช่วยผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะว่าเป็นข้าวที่ลดน้ำตาล ก็ขอให้ติดตามในเรื่องนี้ต่อไป

และ 2. งาน OTOP CITY 2017 ของขวัญจากภูมิปัญญา ประชารัฐ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ระหว่างวันที่ 17-25 ธันวาคมนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

สองงานนี้นอกจากจะช่วยสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งการสืบสานและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่มากด้วยคุณภาพ จากฝีมือคนไทย จากรุ่นสู่รุ่น ก็ยังจะเป็นโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เลือกสรรของขวัญส่งท้ายปี เพื่อจะมอบให้กับผู้ใหญ่ที่เคารพ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพราะฉะนั้นช่ววนี้ผมอยากให้คนไทยทุกคนเป็นคนไทย 4.0 คือคนไทยที่ใช้ปัญญา ในการจะประดิษฐ์ ในการจะสร้างสรรค์ ในการที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ออกมา แค่นั้นก็เป็น 4.0 แล้ว อีกเรื่องหนึ่งของเรื่อง 4.0 เรื่องอุตสาหกรรม นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนมีกับตัวอยู่แล้วก็คือสติปัญญา 4.0 เอามาใช้ให้ได้ทุกคน ต้องพัฒนาตนเอง ต้องเรียนรู้สังคม เรียนรู้สิ่งแวดล้อมตัวเอง ติดตามข่าวสารของราชการ ถ้าเราทำตัวเป็นอิสระ โดดเดี่ยว ไม่สนใจอะไรเลย มันก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมา ปัญญาก็ไม่ได้ใช้

ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น