xs
xsm
sm
md
lg

ช่างราชสำนัก-ช่างแทงหยวกพื้นถิ่น ๔ ภูมิภาคร่วมพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวกเพื่อความเป็นสิริมงคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (๒๒ ต.ค.) เวลา ๐๙.๑๔ น. ที่ลานกลางแจ้ง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง ฝ่ายพัฒนาบุคคลากรด้านช่างฝีมืองานศิลปะ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ได้จัดพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก ในการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำโดยนายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นายช่างศิลปกรรม พร้อมด้วยช่างราชสำนัก และช่างแทงหยวกพื้นถิ่น ๔ ภูมิภาค จำนวน ๓๗ คน ร่วมพิธี

เริ่มต้นด้วยการกล่าวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นางพัฒนา เกตุกาญจโน ผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นประธานจุดเทียน จากนั้น นายบุญชัย กล่าวโองการบวงสรวงครูช่างแทงหยวก นายวิทธิชัย ประคองศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองศิลปกรรม นำน้ำมนต์ธรณีสาร น้ำพระพุทธมนต์ ประพรมเครื่องบวงสรวง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และต้นกล้วยต้นเอกที่ช่างราชสำนักได้ทำพิธีตัดที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นต้นสำคัญที่จะใช้ในการแทงหยวกบริเวณเรือนยอดชั้นที่ ๙ ชั้นสูงสุด ด้วยลายลูกฟักช่องกระจก ประกอบด้วย ลายฟันปลา และลายฟันสาม

อ.บุญชัย ทองเจริญบัวงาม กล่าวว่า สำหรับงานนี้เป็นการแยกออกมาจากงานช่างเครื่องสดราชสำนัก คืองานช่างแทงหยวก งานแทงหยวกที่จะถวายงานในพระราชพิธีสำคัญ นายช่างต้องมีพิธีไหว้ครู เป็นการเคารพต่อครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นขวัญกำลังใจต่อช่าง และยิ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ/พระศพใหญ่ๆ ก็จะมีพิธีบวงสรวงครบสำรับ ทั้งอาหารคาว-หวาน สำรับผลไม้ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ อาทิ พิมพ์สำหรับกดมะละกอดิบ มีดแทงหยวก มีดปาดมุม เลื่อย ก้านลาน และกระดาษทอง ทุกอย่างที่จะใช้ประดับพระจิตกาธาน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือขันน้ำพระพุทธมนต์ ขันน้ำพระเทพมนต์ น้ำมนต์พระธรณีสาร ที่เราทำพิธีเอง ประกอบด้วยใบไม้มงคล อาทิ ใบคูน ใบขนุน ใบยอ ใบมะยม ฝักส้มป่อย มะกรูด ใบเงินใบทอง ใบมะขาม นำมาประพรมเครื่องบวงสรวงเครื่องมือ และตัวช่างเอง เพื่อเกิดความสิริมงคล ขณะเดียวกัน ได้เชิญพระรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือสมเด็จครู แห่งงานช่าง ซึ่งบรรดานายช่างศิลปกรรมทุกแขนงเคารพนับถือ ร่วมบวงสรวงด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวง ได้มีการมอบหมายงานการแทงหยวกให้แก่ช่างจาก ๔ ภูมิภาค ซึ่งทำงานร่วมกับช่างราชสำนัก โดยมอบหมายให้ตามความถนัดและเชี่ยวชาญของช่างในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ จากฐานของพระจิตกาธานชั้นเรือนไฟ ชั้นรัดเอว เป็นการถวายงานจากช่างจากจังหวัดสงขลา แทงหยวกลายกลีบบัวจงกล ๕ ชั้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการแทงหยวกระยะยาว ชั้นรัดเกล้า เป็นการถวายงานจากช่างฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ชั้นเรือนยอด ๙ ชั้น เป็นการถวายงานจากช่างเพชรบุรี ขณะที่ช่างจากจังหวัดมหาสารคาม และอุบลราชธานี ถวายงานการแทงหยวกลายกระจังทิศ กระจังเจิม ซึ่งอยู่บริเวณทุกมุมของพระจิตกาธาน ส่วนลายเถาไขว้เลขเก้าไทย อ.กฤษณะ เฟื่องฟู ช่างราชสำนักที่คิดลายนี้ เป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ จะเริ่มทำการแทงหยวกในวันที่ ๒๓ และ ๒๔ ตุลาคม โดยต้องแล้วเสร็จภายในเวลา ๒๒.๐๐ น. ของวันที่ ๒๔ ตุลาคม และเช็กความเรียบร้อยพร้อมเคลื่อนย้ายไปประดับพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศโดยนายช่างราชสำนัก ๑๓ นาย ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม และให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันเดียวกัน

หนึ่งในนายช่างแทงหยวก นายสมคิด คชาพงษ์ อายุ ๕๔ ปี คณะสกุลช่างแทงหยวกฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เผยภายหลังร่วมพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก ว่า ถือเป็นสิริมงคลสำหรับช่าง โดยตนเองได้นำอุปกรณ์และเครื่องมือในการแทงหยวกประดับซึ่งใช้ประจำ โดยช่างแต่ละที่จะมีอุปกรณ์ที่ต่างกันตามความถนัด ครั้งนี้พวกเราทุกคนตั้งใจถวายงานอย่างสุดฝีมือและสุดความสามารถ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.๙

โดยคณะสกุลช่างแทงหยวกฝั่งธนบุรี ได้รับมอบหมายแทงหยวกในชั้นรัดเกล้าลายตามแบบราชสำนัก โดยเริ่มต้นด้วยการลอกกาบกล้วย เพื่อเลือกกาบกล้วยที่ขาวสวย ไม่มีตำหนิ ก่อนที่จะทำการแทงหยวก ทั้งนี้ ช่างจะมีเทคนิกการรักษากาบกล้วยที่แตกต่างกัน โดยของคณะฯ หลังจากแทงหยวกกล้วยเป็นที่เรียบร้อย จะทำไปแช่สารส้ม เพื่อเป็นการฟอกยางกล้วย ทำให้กาบกล้วยมีความขาวและคงทน
กำลังโหลดความคิดเห็น