xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่า กทม.ตรวจความปลอดภัยตึกหยก 1 หวั่นซ้ำรอยไฟไหม้ตึกอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการตรวจความปลอดภัยอาคารใบหยก 1 วันนี้ว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถึงแม้อาคารใบหยก 1 จะสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ซึ่งถือเป็นอาคารที่ปลูกสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 แต่ตัวอาคารยังคงมีความแข็งแรง ซึ่งเจ้าของอาคารได้มีการดำเนินการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าของอาคารมีการตรวจสอบถังดับเพลิงไม่ให้หมดอายุ รวมถึงสามารถใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลา โดยได้กำชับให้สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้มงวดในการตรวจสอบอาคารต่างๆ รวมถึงอาคารสูง ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 กำหนดไว้ว่า เป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือสูงประมาณ 8 ชั้น และอาคารขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบแจ้งเตือน และระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารให้สามารถใช้งานได้อย่างครบถ้วน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และไม่เกิดเหตุซ้ำรอยกรณีเพลิงไหม้ตึกแกรนด์เฟลล์ ทาวเวอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สำหรับในพื้นที่ กทม.มีอาคารสูงเกินกว่า 23 เมตร หรือ 8 ชั้นขึ้นไปจำนวนมาก โดยมีทั้งอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 และหลังปี 2535 รวม 2,810 อาคาร แบ่งเป็น อาคารที่ปลูกสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,033 อาคาร และอาคารที่ปลูกสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,777 อาคาร

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีรถดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงอาคารที่มีความสูง 90 เมตร หรือประมาณ 30 ชั้น จำนวน 6 คัน กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ขณะที่อาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีขนาดความสูงเพิ่มขึ้น ประกอบกับพื้นที่ตรอก ซอย มีขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ประชาชนควรศึกษาวิธีป้องกันตนจากเหตุอัคคีภัย ได้แก่

1.ก่อนเข้าพักอาศัยในอาคารต่างๆ ควรสอบถามความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ เช่น เครื่องป้องกันควันไฟ อุปกรณ์ฉีดน้ำอัตโนมัติบนเพดาน รวมถึงอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ และการหนีไฟ ของสถานที่นั้นๆ

2.ตรวจสอบทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ห้องพักที่สุด รวมถึงตรวจสอบประตูหนีไฟต้องไม่ปิดล็อค หรือสิ่งกีดขวาง โดยให้นับจำนวนประตูห้องทั้งสองทาง (ซ้าย–ขวา) จนถึงทางหนีไฟ ซึ่งจะทำให้ถึงทางหนีไฟฉุกเฉินได้แม้ว่าไฟฟ้าจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน

3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู วางกุญแจห้องพักและไฟฉายใกล้กับเตียงนอน หากเกิดไฟไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ เปิดสัญญาณเตือนไฟไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีออกจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง

 5.หากได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าไฟไหม้ที่ใด

6.ถ้าไฟไหม้ห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที จากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงโดยเร็ว

7.ถ้าไฟไม่ได้เกิดที่ห้องพักของท่าน ให้หนีออกจากห้อง โดยวางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู เพื่อป้องกันตนเองจากเปลวไฟภายนอก แต่ให้รีบโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิง ถึงตำแหน่งของท่าน และหาผ้าเช็ดตัวเปียกๆ ปิดช่องประตู หรือทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่าง พร้อมส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

9.คลานให้ต่ำ หากท่านต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง ควรหาถุงพลาสติกตักเอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะ จากนั้นคลานหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉิน พร้อมนำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพัก และขอความช่วยเหลือทางอื่นต่อไป

10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดไฟไหม้ ให้ใช้บันไดภายในอาคาร เนื่องจากลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นไฟไหม้
กำลังโหลดความคิดเห็น