ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมิถุนายน 2560 มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ วันที่ 9 มิถุนายน เป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงและโคจรอยู่ห่างจากโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,402 กิโลเมตร ในเวลาประมาณ 20.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย ทำให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี เรียกว่า “ไมโครมูน” ขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงจันทร์ปกติ ประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30% จากนั้นช่วงกลางเดือน วันที่ 15 มิถุนายน ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เป็นผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร ช่วงดังกล่าวจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ยาวนานตลอดคืนตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้าวันของถัดไป และมีความสว่างมาก ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า หรือหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจน และในวันที่ 21 มิถุนายน ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ นานสุดเกือบ 13 ชั่วโมง ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันครีษมายัน” หรือ Summer Solstice