xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดในปี 2563

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ในกรุงเทพมหานคร ตามปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักสิ่งแวดล้อม ประธานกลุ่มเขต 6 กลุ่มเขต พร้อมด้วย สภากาชาดไทย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) โดยที่ประชุมรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า มีคนกรุงเทพฯ เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 7 ราย ในปี พ.ศ. 2552 เสียชีวิต 6 ราย ในปี พ.ศ. 2553 เสียชีวิต 1 รายในปี พ.ศ. 2555 และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2554, 2556, 2557, 2558 จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2559 ได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่เขตบางนา
จากข้อมูลการสอบสวนโรคพบว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากถูกสุนัขกัด ไม่ได้ติดตามดูอาการและนำสัตว์ที่กัดส่งชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่พบเชื้อพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่เป็นสุนัข ร้อยละ 90-96 เป็นแมว ร้อยละ 4-8 โดยร้อยละ 70 เป็นสัตว์จรจัด ร้อยละ 30 เป็นสัตว์มีเจ้าของ ร้อยละ 80 ของสัตว์ที่มีเจ้าของไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและมักเลี้ยงดูแบบอิสระทำให้มีโอกาสไปสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งแนวทางการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพมหานคร 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1. การเฝ้าระวังแจ้งเตือนโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์
2. การป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์
3. การบูรณาการสอบสวนโรค ในคนและสัตว์
4. การบริหารจัดการเชิงบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เสริมสร้างความรู้ ทักษะ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของกรุงเทพมหานคร ทั้งเชิงรุกและตั้งรับตลอดทั้งปี โดยตั้งเป้าให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากกรุงเทพมหานครภายในปี 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น