ความคืบหน้ากรณีต้นไม้ล้มทับสายสื่อสาร ทำให้เสาไฟฟ้าหัก บริเวณซอยชิดลม ล่าสุด นายธีระวัฒน์ เทพอำนวยสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลงพื้นที่อำนวยการแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน โดยตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เกิดจากลมกระโชกแรงทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ด้านหน้าอาคารอัลม่าลิ้งค์ (Alma Link Building ) ล้มลงมาบริเวณกลางถนน ทับสายสื่อสารและเหนี่ยวรั้งดึงเสาหักเสียหาย จำนวน 7 ต้น ประกอบด้วยเสาไฟฟ้าของ กฟน. ขนาด 12 เมตร 3 ต้น เสาระบบสื่อสาร TOT ขนาด 10 เมตร 2 ต้น และขนาด 8.5 เมตร 1 ต้น เสาไม่ทราบหน่วยงาน 1 ต้น และเสาโคมไฟฟ้าชนิด LED อีก 1 ต้น ที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิต 1 คน จากเสาสายสื่อสาร TOT ล้มทับ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 คน มีรถยนต์ของประชาชนเสียหาย จำนวน 5 คัน เบื้องต้น กฟน. จะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวน 1 หมื่นบาท โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าดับ เนื่องจากบริเวณดังกล่าว กฟน. ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าว กฟน. ได้ระดมเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขปัญหา โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ จัดเก็บสายสื่อสารและนำเสาสื่อสาร เสาไฟฟ้า ออกเพื่อคืนพื้นที่จราจรอย่างเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้ หลังแก้ไขปัญหารื้อถอนและจัดเก็บสายสื่อสารทั้งหมดแล้ว กฟน. จะไม่ปักเสาไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ติดตั้งสายสื่อสารอีก เนื่องจากช่วงนี้เกิดพายุฝนลมกระโชกแรงบ่อยครั้ง การไฟฟ้านครหลวง มีความห่วงใยประชาชนให้ระวังอันตราย โดยขอให้อยู่ห่างจากป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ ไม่แข็งแรง ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า เพราะอาจหักโค่นพาดลงมาทับสายสื่อสาร สายไฟฟ้า ทำให้เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาด เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในขณะเดียวกัน กฟน.ขอแนะนำให้ประชาชนสำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านของตัวเอง ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้า เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับ รวมไปถึงอาจจะทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำจากฝนฟ้าคะนองได้ ในส่วนของห้างร้านที่ติดตั้งป้ายโฆษณา จะต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง ปลอดภัย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นสายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงชำรุด ตลอดจนพิจารณาแล้วว่าไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเขตได้ทุกเขต หรือที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA CALL CENTER โทร 1130 และแจ้งผ่าน MEA Smart Life ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนระบบ iOS และ Android ของการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นสายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงชำรุด ตลอดจนพิจารณาแล้วว่าไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเขตได้ทุกเขต หรือที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA CALL CENTER โทร 1130 และแจ้งผ่าน MEA Smart Life ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนระบบ iOS และ Android ของการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง