พี่น้องประชาชนที่เคารพ วันนี้ เมื่อ ๒๓๕ ปีที่แล้ว เป็นวันสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เริ่มต้นรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราจึงเรียกว่า "วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" และ "วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์" วันเวลาได้ผ่านพ้นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ มาจนถึงรัชกาลที่ ๑๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ปกเกล้าปกกระหม่อมชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข และรักษาเอกราช อธิปไตย ยั่งยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้
วันเดียวกัน ในปีนี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ แก่ประชาชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว
นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ในประวัติการเมือง ๘๕ ปีของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง ๑๖ ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๓๕ จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ ๓๐ ล้านคน หรือร้อยละ ๖๐ ของผู้มีสิทธิทั้งหมด
ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้ คือ
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งใช้มาประมาณ ๒ ปีเศษ เป็นอันสิ้นสุดลง
๒. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
๓. ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องทั้งหลายจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของชนชาวไทยก็เพิ่มจากเดิมด้วยเช่นกัน เพราะคนเราเมื่อมีสิทธิ ก็ต้องมีหน้าที่คู่กัน จะเรียกร้องแต่สิทธิ หรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว มิได้ เช่นเดียวกับรัฐ ซึ่งมีหน้าที่มากขึ้น แม้แต่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการใช้อำนาจรัฐ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม
๔. มีภารกิจสำคัญ ๒ เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำ คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งในทางการเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด และด้วยวิธีการอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กัน คือ การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อจะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ
ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก โดยระยะหนึ่งถึงกับพูดกันว่า "จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งแล้วจึงค่อยปฏิรูป" การดำเนินการทั้ง ๒ ภารกิจนี้จะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวิธีดำเนินการ และขั้นตอนต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเร็ววันนี้
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาอยู่ จนเป็นกับดักสกัดกั้นความเจริญของชาติ ทั้งนี้ ได้เคยแจ้งแผนและขั้นตอนการทำงาน หรือที่เรียกว่าโรดแมป ให้พี่น้องทั้งหลายทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกแล้วว่า ช่วงเวลาระยะที่ ๑ จะเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากใช้เวลาสั้นๆ เพียง ๒ เดือน
ช่วงเวลาช่วงต้นของระยะที่ ๒ ก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ตลอดจนแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งใช้เวลามาจนถึงบัดนี้ ๒ ปีครึ่ง
ช่วงปลายของระยะที่ ๒ ก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มต้นแล้วในวันนี้
แผนและขั้นตอนการทำงานในช่วงปลายต่อจากนี้ไป คือการบริหารประเทศโดยการเสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้าน รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย ตลอดจนเตรียมการปฏิรูปประเทศ เตรียมการด้านยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดองของชนในชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานเหล่านี้ไว้แล้ว ดังที่เรียกตัวย่อว่า "ป.ย.ป."
นอกจากนั้น ในช่วงปลายของระยะที่ ๒ นับจากวันนี้ไป จะเป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๑๐ ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน ๘ เดือน แต่ละฉบับจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน ๒ เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ ๑ เดือน
ต่อจากนั้น จึงนำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน ๙๐ วัน เมื่อประกาศใช้กฎหมาย ๔ ฉบับแรก เฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง อันประกอบด้วย การสมัครรับเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน ๕ เดือน นับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ ๔ ฉบับ
รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้ เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรก คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริง ไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวัน เวลา ชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายจะเป็นดังที่เรียนมา และไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลใหม่ และสิ้นสุดการทำงานลง อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลาระยะ ๓ ตามโรดแมปต่อไป
นับจากวันนี้ รัฐบาลจะยังคงอยู่กับพี่น้องทั้งหลาย และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศ และคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้ว ยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา ๔๔ ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือ ใช้เท่าที่จำเป็น เร่งด่วน เพื่อรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม
พี่น้องประชาชนที่เคารพ รัฐบาลขอให้โอกาสต่อจากนี้ไป เป็นเวลาที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมมือกันยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ และปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งเห็นประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในทุกทาง ในการร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่สงบและสันติสุข เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ แม้แต่การเตรียมการเลือกตั้ง ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้กฎเกณฑ์ กติกาใหม่ เมื่อเป็นวาระแห่งชาติสำคัญ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือทำให้เสียความรู้สึก และเสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทย
รัฐบาลขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และช่วยกันขับเคลื่อนโรดแมป จนผ่านพ้นช่วงเวลาและขั้นตอนต่างๆ มาได้ด้วยดี และขอเดชะพระบารมีแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ จงพิทักษ์รักษาราชอาณาจักรไทยให้สงบสุข และปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนชาวไทย ให้เย็นศิระเพราะพระบริบาล สืบเนื่องต่อไปตราบกาลนาน เทอญ
วันเดียวกัน ในปีนี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ แก่ประชาชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว
นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ในประวัติการเมือง ๘๕ ปีของไทย และเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง ๑๖ ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๓๕ จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ ๓๐ ล้านคน หรือร้อยละ ๖๐ ของผู้มีสิทธิทั้งหมด
ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้ คือ
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งใช้มาประมาณ ๒ ปีเศษ เป็นอันสิ้นสุดลง
๒. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
๓. ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องทั้งหลายจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของชนชาวไทยก็เพิ่มจากเดิมด้วยเช่นกัน เพราะคนเราเมื่อมีสิทธิ ก็ต้องมีหน้าที่คู่กัน จะเรียกร้องแต่สิทธิ หรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว มิได้ เช่นเดียวกับรัฐ ซึ่งมีหน้าที่มากขึ้น แม้แต่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการใช้อำนาจรัฐ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม
๔. มีภารกิจสำคัญ ๒ เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำ คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งในทางการเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด และด้วยวิธีการอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กัน คือ การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อจะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ
ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก โดยระยะหนึ่งถึงกับพูดกันว่า "จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งแล้วจึงค่อยปฏิรูป" การดำเนินการทั้ง ๒ ภารกิจนี้จะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวิธีดำเนินการ และขั้นตอนต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเร็ววันนี้
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ค้างคาอยู่ จนเป็นกับดักสกัดกั้นความเจริญของชาติ ทั้งนี้ ได้เคยแจ้งแผนและขั้นตอนการทำงาน หรือที่เรียกว่าโรดแมป ให้พี่น้องทั้งหลายทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกแล้วว่า ช่วงเวลาระยะที่ ๑ จะเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากใช้เวลาสั้นๆ เพียง ๒ เดือน
ช่วงเวลาช่วงต้นของระยะที่ ๒ ก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ตลอดจนแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งใช้เวลามาจนถึงบัดนี้ ๒ ปีครึ่ง
ช่วงปลายของระยะที่ ๒ ก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มต้นแล้วในวันนี้
แผนและขั้นตอนการทำงานในช่วงปลายต่อจากนี้ไป คือการบริหารประเทศโดยการเสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้าน รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย ตลอดจนเตรียมการปฏิรูปประเทศ เตรียมการด้านยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดองของชนในชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานเหล่านี้ไว้แล้ว ดังที่เรียกตัวย่อว่า "ป.ย.ป."
นอกจากนั้น ในช่วงปลายของระยะที่ ๒ นับจากวันนี้ไป จะเป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ๑๐ ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน ๘ เดือน แต่ละฉบับจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน ๒ เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ ๑ เดือน
ต่อจากนั้น จึงนำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน ๙๐ วัน เมื่อประกาศใช้กฎหมาย ๔ ฉบับแรก เฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง อันประกอบด้วย การสมัครรับเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน ๕ เดือน นับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ ๔ ฉบับ
รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้ เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรก คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริง ไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวัน เวลา ชัดเจนได้ นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายจะเป็นดังที่เรียนมา และไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลใหม่ และสิ้นสุดการทำงานลง อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลาระยะ ๓ ตามโรดแมปต่อไป
นับจากวันนี้ รัฐบาลจะยังคงอยู่กับพี่น้องทั้งหลาย และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศ และคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้ว ยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา ๔๔ ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือ ใช้เท่าที่จำเป็น เร่งด่วน เพื่อรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม
พี่น้องประชาชนที่เคารพ รัฐบาลขอให้โอกาสต่อจากนี้ไป เป็นเวลาที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมมือกันยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ และปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งเห็นประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในทุกทาง ในการร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่สงบและสันติสุข เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ แม้แต่การเตรียมการเลือกตั้ง ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้กฎเกณฑ์ กติกาใหม่ เมื่อเป็นวาระแห่งชาติสำคัญ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือทำให้เสียความรู้สึก และเสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทย
รัฐบาลขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และช่วยกันขับเคลื่อนโรดแมป จนผ่านพ้นช่วงเวลาและขั้นตอนต่างๆ มาได้ด้วยดี และขอเดชะพระบารมีแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ จงพิทักษ์รักษาราชอาณาจักรไทยให้สงบสุข และปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนชาวไทย ให้เย็นศิระเพราะพระบริบาล สืบเนื่องต่อไปตราบกาลนาน เทอญ