xs
xsm
sm
md
lg

11 กลุ่มภาคประชาสังคมเห็นพ้องสร้างปรองดองต้องลดความรุนแรง เคารพสิทธิผู้อื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงข่าวภายหลังที่ตัวแทนภาคประชาสังคม 11 กลุ่ม เข้ามาร่วมเสนอแนวทางปรองดอง ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า ทุกกลุ่มมองว่าความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม แต่ในพื้นฐานความขัดแย้งต้องไม่มีความรุนแรง โดยเสนอว่าต้องมุ่งเน้นไปยังตัวบุคคล ที่จะต้องเคารพ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น พร้อมทั้งต้องรู้หน้าที่ตนเอง ดังนั้นต้องให้การศึกษา ให้ความรู้ ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ให้มีจิตสำนึกและเคารพสิทธิของผู้อื่น

ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องเข้าไปจัดการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้เวลา ไม่ควรโทษกันไปมาว่าใครผิดใครถูก และต้องมีจิตสำนึกในการขอโทษ พร้อมกับให้อภัยต่อกัน เพื่อนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม

สำหรับเรื่องการเลือกตั้งนั้น ภาคประชาสังคมมองว่าเป็นเพียงกระแสนิยมที่เสนอผ่านสื่อ ประชาชนไม่สามารถแยกแยะด้วยตนเองได้ว่า บุคคลไหนดีหรือไม่ดี สะท้อนให้ว่าการศึกษามีความสำคัญ และจำเป็นปลูกฝังให้เยาวชนมีความรับผิดชอบและวางแผนในอนาคตต่อไป โดยหลักสูตรการศึกษาควรพัฒนาให้ทันสมัย พร้อมยึดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความแตกต่างของการศึกษาในแต่ละภาค โดยรัฐต้องเข้าไปบริหารจัดการให้สภาบันการศึกษามีความเท่าเทียมกันด้วย

ส่วนปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและความยากจนนั้น ทั้งรัฐบาลและทุกภาคส่วน ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรม พร้อมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง ด้วยการเจรจา ไกล่เกลื่ย พร้อมเปิดเวทีให้พูดคุยกัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีโอกาสพูดคุยกัน รวมทั้งให้คสช.เข้าไปบริหารจัดการความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และโครงสร้าง ที่จะต้องใช้เวลา เพื่อให้การบริหารจัดการความขัดแย้ง นำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

สำหรับการเสนอความคิดเห็นเสริมสร้างความปรองดอง ของภาคประชาสังคมในวันที่ 24 มีนาคม จะเชิญสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนและสมาคมพัฒนาประชากร และชุมชน เข้าร่วมพูดคุย
กำลังโหลดความคิดเห็น