xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 10 มีนาคม 2560

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

..

สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน หลาย ๆ ท่านคงได้รับของประเทศ ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับตามดัชนีความทุกข์ยากประจำปี 2560 แล้วว่าประเทศไทยของเรามีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลกหรือมีความสุขที่สุดในโลก ผมขอชื่นชมหน่วยงานทุกฝ่ายของรัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งเครือข่ายประชารัฐที่ร่วมกันสร้างความสุข รวมถึงรักษาอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกันด้วยนะครับการวัดในลักษณะนี้ เป็นการมองความสุขในสายตาของต่างประเทศ ที่เห็นว่าประเทศไทยของเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีมีธรรมาภิบาล มุ่งมั่นขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ โดยมีการเร่งรัดที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ เช่น เรื่องการประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU) การบินพลเรือน (ICAO) ให้เป็นไปตามกติกาสากลและในเรื่องของการค้ามนุษย์นะครับ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ ของรัฐบาลนี้ เหล่านี้เป็นต้น

โดยการดำเนินการในทุก ๆ มิติ ทุก ๆ มาตรการของรัฐบาลและ คสช. ที่ทำอยู่ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และส่งผลให้เห็นผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ รวมทั้งในครั้งนี้ด้วย เรื่องนี้มีหลายคนออกมาบิดเบือนว่าไม่จริง เศรษฐกิจไม่เห็นจะดีขึ้น ประชาชนไม่มีความสุข ก็เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนคิดได้นะครับ ต้องช่วยกันพิจารณาคนที่ออกมาพูดด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความสูขที่ยั่งยืนคือความพออยู่พอกินและมีชีวิตที่สงบสันติเป็นความสุขของตัวเราและเราและเรารู้สึกได้ ส่วนการไม่รู้จักพอคือเราปล่อยตัวปล่อยใจ ซึ่งย่อมนำไปสู่การแสวงหาที่ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะอยากมีอยากได้อยู่ตลอดเวลา แบบนี้เท่าไหร่ก็ไม่พอ แม้จะมั่งมีศรีสุข ร่ำรวยทรัพย์สินกว่าคนอื่น ๆ แต่ก็ยังไม่หยุดทุจริต ไม่หยุดเอารัดเอาเปรียบ ไม่รู้จักแบ่งปัน ไม่รู้จักให้ ก็จะไม่รู้จักความสุขถาวร แล้วเราก็จะไปหลงอยู่กับความสุขชั่วครู่ชั่วยาม ไม่จีรัง ซึ่งตรงข้ามกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงสอนให้คนไทยรู้จัก ความพอประมาณเดินมาทางสายกลางไม่ประมาท มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง ไม่ยอมแพ้ต่อกระแสทุนนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม จนหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่อาจจะมีบัตรเครดิตโดยไม่จำเป็น หรือมีมากกว่าจำเป็น ย่อมนำไปสู่การก่อหนี้ อาจจะง่ายนะครับในการที่จะรูดบัตรเครดิต แต่อาจจะเป็นการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ต้องพึงระมัดระวังนะครับ เช่น การกู้เงินมาซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือทำอะไรที่มันเกิดตัวแทนที่จะกู้มาเพื่อการลงทุน ซื้อเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือแม้แต่การขายสิทธิขายเสียง ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อมุ่งหวังเงินทองเล็กน้อย แต่ไม่มองอนาคตของตนเองของลูกหลานและผลได้ผลเสียของประเทศในระยะยาว เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการใช้ความรู้คู่คุณธรรมเป็นเครื่องช่วยยกระดับจิตใจของพี่น้องประชาชน นับตั้งแต่เยาวชนขึ้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ถือว่าเป็นนโยบายหลักและรากฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศครับ สำหรับผู้ที่อยากเข้าสู่การเป็นรัฐบาล จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองบ้างนะครับ ลองคิดใหม่ ๆ ดูบ้าง อย่าคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ประชาชนเป็นผู้พิจารณา

วันนี้ผมมีเกษตรกรตัวอย่างคือลุงอุดม ป้าสมจิต บุญศรี เป็นเกษตรกร จังหวัดพังงา ที่น้อมนำศาสตร์พระราชา โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักเสี้ยน โหระพา ใบแมงลัก ใบกะเพรา ถั่วพู ซึ่งใช้ระยะเพียง 20-23 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ พืชผลทุกอย่างนั้นกินได้นะครับ เหลือใช้เหลือขายก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน บนพื้นที่เพียง 2 ไร่ ทำมากว่า 40 ปี สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะส่งลูกเรียนจบปริญญาตรีและปริญญาเอก ไม่มีหนี้สิน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนะครับ ลองดูตัวอย่างแบบนี้บ้าง

เบื้องหลังความสำเร็จนี้ผมขอชี้ให้เห็นปัจจัย 3 ประการ 1.การมีหลักคิด การคิดวิเคราะห์ กล่าวคือแม้จะเห็นว่าพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพังงา คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่ถ้าหากทุกครัวเรือนปลูกพืชเศรษฐกิจเหมือนกันทั้งหมด ก็จะไม่มีพืชผักสวนครัวเพียงพอป้อนตลาดในจังหวัดทั้งกินเอง หรือสำหรับนักท่องเที่ยว โดยจังหวัดพังงานั้นถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของประเทศ กลับกลายเป็นว่าต้องนำเข้าพืชผัก จากจังหวัดภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือจำนวนมาก มูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี 2.ความเข้าใจ ก็คือ นอกจากเข้าใจองค์ความรู้และหลักคิดเกี่ยวกับกลไกการตลาดข้างต้นแล้ว จากการที่หน่วยงานภาครัฐ เกษตรจังหวัด ได้ให้คำแนะนำ จะหมายรวมถึงความเข้าใจในการนำวิทยาการสมัยใหม่

และแนวโน้มของโลกในอนาคต มาช่วยในการตัดสินใจ ในการประกอบอาชีพ เช่น การเลือกปลูกพืชผักปลอดสารพิษเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ไม่ใช้ดินทั้งแบบโรงเรือนระบบปิดแบบกางมุ้งเป็นต้น และ 3.คือความร่วมมือที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดจะเป็นการนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ จนประสบความสำเร็จในที่สุด ที่ผ่านมา เกษตรกรไทย ทำนา ทำไร่ หรือพืชสวนอะไรก็ตามนะครับ อาจจะทำด้วยความเคยชิน ซึ่งต้องพึ่งฟ้า พึ่งฝนแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งนับวันภูมิอากาศโลกจะแปรปรวนขึ้นเรื่อย ๆ ปีไหนน้ำมากก็ปลูกกันมาก ผลผลิตมากขึ้น ก็ทำให้ราคาตกต่ำ จนอาจจะต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินอุดหนุนบ้าง ประกันราคาบ้าง เหล่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งระบบ แบบบูรณาการนะครับ ที่สำคัญ ก็คือไม่ยั่งยืน เดี๋ยวครั้งหน้า ปีหน้าก็กลับมาใหม่อีกรอบหนึ่ง ก็เหมือนเดิมอย่างนี้ทุกปี ปัจจุบันรัฐบาลก็ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Agri Map ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบ ทั้งกลไกการตลาดและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมในการวางแผนและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช ว่าควรปลูกอะไร อย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควรปลูกที่ไหน ใช้พื้นที่เท่าไหร่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพลมฟ้าอากาศ และสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศด้วย ถ้าเกษตรกรร่วมมือกันเพาะปลูกตามแผน ก็จะช่วยให้สามารถดูแลราคาผลผลิต เกษตรกรได้รายได้เต็มที่นะครับ

ผมเห็นว่า ปัจจัยทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนั้น คือการมีหลักคิด การสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ จะเป็นกุญแจสำคัญ ไม่เพียงการบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เท่านั้น แต่จะช่วยให้คนไทยมีความสุขที่ยั่งยืนที่แท้จริง ด้วย ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ควรต้องคิดและทำให้ได้แบบนี้นะครับ จะเป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่าทำแบบเดิม ๆ ที่รอการเยียวยาช่วยเหลือตลอดไป ฝากท้องถิ่นนะครับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันสร้างการรับรู้ด้วยนพครับ อย่าติดกับที่เดิมอีกเลย พี่น้องประชาชนที่รักครับ, ผมอยากจะเรียนว่า รัฐบาลนี้ บริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติด้วย จึงเป็นที่มาของกลไกการทำงานต่าง ๆ ที่รัฐบาลและ คสช. ได้กำหนดขึ้นในปัจจุบัน ตั้งแต่คณะขับเคลื่อนต่างๆ กลไกประชารัฐ คณะกรรมการประชารัฐ 12 คณะ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี 76 จังหวัด และล่าสุดคือคณะกรรมการ ป.ย.ป.

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุภารกิจของรัฐบาลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนดำเนินการภายใต้หลักคิดการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รัฐอาจจะต้องนำร่องก่อน และก็รับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงไปจนถึงระดับฐานราก ผมถือว่าประเทศชาติเป็นของเราทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการริเริ่มมีนโยบายแล้วถึงจะไปแสวงหาความร่วมมือ อย่าหาว่ารัฐไปกำหนดนี่นู้น โดยไม่ฟังความคิดเห็นของใครเลย ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ถูกกฎหมาย และมีเหตุมีผลด้วย

วันนี้กฎหมายยังคงถูกละเมิดอยู่ ในหลายๆ ส่วนด้วยกัน โดยมีกลุ่มคนทั้งมากและน้อยอยู่หลายจำนวนอยู่เหมือนกัน พยายามจะบิดเบือนตลอดเวลาคนส่วนใหญ่ว่าอย่างไรนะครับ เราจะยอมให้มีการใช้กฎหมู่มาเหนือกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลเดิมๆ อยู่ มันสมควรแล้วหรือ

ผมขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ป.ย.ป.ทั้ง 39 ท่าน ที่เสียสละ และเห็นแก่อนาคตของประเทศชาติร่วมกัน ทำในสิ่งที่ยากเริ่มจากการหารือสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และสำรวจว่าประเทศของเรานั้นควรจะเดินหน้าไปอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจัดทำความเห็น และข้อเสนอในลำดับต่อไปตามนโยบายที่เรามีอยู่ ผมขอยกตัวอย่างการใช้ข้อมูลในการวางยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างเป็นขั้นตอน และมีแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง เช่น ข้อมูลทางสถิติเชิงประจักษ์สามารถนำมาใช้บอกความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนแรงงานกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นทั้งปัญหา และโอกาสที่ประเทศเผชิญอยู่ และจะทำให้เราสามารถหาวางแนวทางแก้ปัญหาเพื่อจะเพิ่มโอกาส และมองเห็นประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศในระยะยาวอีกด้วย เช่น

1.แรงงานภาคเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เพียง 12% เท่านั้น ดังนั้นเราต้องผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรของเรานั้นเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ รู้จักการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลทางการเกษตร และการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และจะต้องรู้จักกลไกการตลาด เป็นต้น ซึ่งจะต้องอาศัยการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยทั้งระบบ

2.แรงงานภาคอุตสาหกรรมมีเพียงร้อยละ 14 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 33% และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของเราเอง จึงเป็นที่มาของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ได้มีการกำหนดอุตสาหกรรม 10 เป้าหมายของประเทศ และการพัฒนาด้านการศึกษาที่จะให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษามากขึ้น เพื่อมีแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะได้สอดคล้องกับตลาดแรงงานในประเทศ และทิศทางการพัฒนาประเทศอีกด้วย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับการเกษตรนะครับ การเกษตรก็ทำเกษตรไปให้มีรายได้สูงขึ้น ใช้พื้นที่ให้น้อย ใช้น้ำให้น้อย ใช้ต้นทุนให้น้อย มันจะได้มีกำไรมากขึ้น แล้วก็ปลูกพืชที่มีคุณภาพเป็นเกษตรอินทรีย์

เรื่องที่ 3.แรงงานภาคบริการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้น ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกมาก ก็ถือเป็นจุดแข็งของไทย นอกจากการดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข สถานที่ท่องเที่ยวสะอาด ไร้ขยะ ปลอดภัยรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นแพ็กเกจเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับชุมชนเกษตร เพื่อกระจายรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยตรง รวมทั้งเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติกับกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน เป็นต้นต้องระมัดระวังการค้าขาย หรือการท่องเที่ยวที่เกี่ยวพันกับธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมายจะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

อีกตัวอย่างของการสำรวจตัวเองของคณะกรรมการ ป.ย.ป.พบว่า อุตสาหกรรมอากาศยาน และธุรกิจการบิน เป็นอีกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยมีความเชื่อมโยงกับระบบลอจิสติกส์ สำหรับขนส่งคน สินค้า การท่องเที่ยว รวมทั้งรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเจริญเติบโตของจีดีพีของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นด้วยที่ตั้งของประเทศไทยมีความเหมาะสมกับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ได้เปิดโอกาสให้เราสามารถขยายเส้นทางบินได้อีกราว 2 เท่า จากเดิม 104 เส้นทาง เป็น 193 เส้นทาง ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกันของโครงข่ายสนามบินทั้ง 39 แห่งของประเทศในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันสนามบินหลักทั้ง 6 แห่งของประเทศ อันได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง ภูเก็ต และหาดใหญ่ ต้องรองรับผู้ใช้บริการที่เกินกว่าศักยภาพของสนามบินรวม 23 ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดการคับคั่งล่าช้าในการให้บริการ ซึ่งนับเป็นปัญหา และแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม ดังนั้นเราต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคตนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน และธุรกิจการบิน ที่คณะกรรมการ ป.ย.ป.เห็นชอบในหลักการ และให้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในด้านต่างๆ ทั้งความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อจะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค อันประกอบด้วย

1.การเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของไทย ให้พร้อมรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

2.การเป็นศูนย์กลางคลังสินค้าและการขนส่งทางอากาศ ก่อนกระจายไปสู่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี และให้ความสำคัญในการรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต

และ 3.การเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนด้วยการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆ เพื่อปลดล็อก และส่งเสริมบทบาทของไทยที่มีภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งได้เปรียบและเหมาะสมกว่า ซึ่งจำเป็นจะต้องวางข่ายการคมนาคมระหว่างภายนอกสนามบินกับทางเข้าเมืองด้วย ทั้งนี้ นอกจากการปฏิรูปประเทศแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการ ป.ย.ป.มีความเห็นที่ตรงกันถึงความสำคัญ และจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ชาติให้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เราต้องพัฒนาอย่างสมดุลทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็ล้วนมียุทธศาสตร์มุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ของประเทศ สำหรับเหตุผลง่ายๆ ที่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นของยุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาว 20 ปี อันได้แก่

1.การสร้างหมอ วิศวกร แรงงานที่มีฝีมือแขนงอื่นๆ หรือแม้กระทั่งสมาร์ทฟาร์เมอร์ก็ย่อมต้องอาศัยเวลา ต้องมีการวางแผนการศึกษา การเลือกเส้นทางเดินตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ต่อเนื่องจนถึงอาชีวะ หรืออุดมศึกษา รวมแล้วราว 10 ปี อาจจะมากกว่านั้นด้วย

และ 2.การที่นักลงทุนไทย ต่างประเทศจะตัดสินใจเสี่ยงทุ่มทุน ทรัพยากร ขยายกิจการ ตลอดจนความพยายามต่างๆในการที่จะเลือกประกอบการธุรกิจ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต หรือตั้งสำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขาในภูมิภาค ย่อมต้องการ ความมั่นคงในเรื่องนโยบายสาธารณะของประเทศ ระยะยาวกว่า 20 ปี หรือ 50 ปีขึ้นไป เพราะเป็นการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ดังนั้นหากประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นเครื่องประกันความไว้เนื้อเชื่อใจแก่นักลงทุนแล้ว ประเทศก็อาจจะสูญเสียโอกาสที่ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้นไปอย่างน่าเสียดาย

พี่น้องประชาชนครับ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน หลายพื้นที่ยังมีความเสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก ได้มีรับสั่งให้รัฐบาลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลได้น้อมนำพระกระแสรับสั่งใส่เกล้าใส่กระหม่อม และได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้เตรียมการในหลายๆด้าน โดยหนึ่งในสิ่งที่รัฐเร่งดำเนินการ ก็คือเรื่องฝนหลวง

ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่งเปิดปฏิบัติการยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง สำหรับปี 2560 ที่ จ.สระแก้ว และเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการตลอดเวลา เพื่อเร่งใช้สภาพอากาศที่เหมาะสมในการทำฝนหลวง เพื่อชดเชยปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆให้เพียงพอนะครับ วันนี้ต้องดูสภาพอากาศด้วย เมฆหมอกพอเพียงหรือไม่ ความชื้นได้หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าทำทุกครั้งจะได้ทุกครั้งนะครับ ก็คงต้องประหยัดน้ำ

อย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วครั้งก่อนว่าทุกฝ่าย คงไม่ใช่เพียงภาครัฐ จะต้องร่วมมือกันเพื่อเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากปริมาณน้ำที่อาจน้อยกว่าที่คาดไว้ พี่น้องประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ควรจัดหาและเตรียมพร้อมภาชนะกักเก็บน้ำ เพื่อสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า

สำหรับพี่น้องประชาชนในภาคการเกษตร ผมขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำ และแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อจะได้วางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ การงดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง น้ำขาดแคลน ซึ่งตอนนี้ผมได้ทราบว่าปริมาณการปลูกข้าวนาปรัง ได้มีมากกว่าแผนที่กำหนดไว้แล้วจำนวนหลายล้านไร่ หากปลูกเพิ่มเติมจะทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายเหมือนเช่นเดิมที่เคยปลูกมาแล้ว อาจจะยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ก็จะเริ่มเสียหายไปเรื่อยๆ ผมขอให้ลองเพาะปลูกพืชอายุสั้น เช่น พืชตระกูลถั่ว เมลอน แตงโม หรือเลี้ยงสัตว์แทนการเพาะปลูก อาทิ ไก่ กบ เพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง หรือทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย โดยนำเศษฟาง เศษหญ้า ใบไม้ หรือพืชตระกูลถั่วคลุมรอบโคน

ส่วนภาคอุตสาหกรรม ควรจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน คงต้องช่วยตัวเองกันบ้างนะครับ แล้วช่วยกันลองพิจารณาหันมาใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ ทั้งนี้ เพื่อจะนำน้ำที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ที่เรียกว่ารีไซเคิล ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เรามีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดปีอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้งนี้นะครับ การเกษตรอาจจะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด

ในการลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เพื่อตรวจเยี่ยม และติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในด้านสาธารณสุขเมื่อวาน ผมถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ขอขอบคุณพี่น้องชาวปราจีนบุรีที่เข้มแข็ง ทุกคนได้ให้สัญญากันไว้ว่าจะร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างสุขภาพกายสุขภาพจิตพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของโครงการสำคัญอันได้แก่

1.โครงการคลินิกหมอครอบครัวเพื่อคนทั้งประเทศ จะเป็นการปฏิรูประบบบริหารสุขภาพ โดยเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง จะประกอบด้วย ทีมหมอครอบครัว หนึ่งทีม ดูแลประชากร 10,000 คน ตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และจะมี คลินิกหมอครอบครัว ที่เปิดบริการทุกวัน มีการเยี่ยมแนะนำถึงบ้าน 5 วัน/สัปดาห์ ทำให้เหมือนอยู่ใกล้ชิดหมอตลอดเวลา รวมทั้งลดระยะเวลารอรับบริการที่โรงพยาบาลลง 6 เท่า จากเดิมเคยต้องคอยถึง 180 นาที เหลือเพียง 30 นาที) นับว่าเป็นการทำงานเชิงรุก ด้วยแนวคิดที่ว่าเราจะให้การบริการ ทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลา ได้อย่างไรนะครับ ทั้งนี้ก็ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ซึ่งก็เน้นการป้องกัน ไม่ใช่รอรักษาผู้ป่วยที่สถานพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว ลดค่าใช้จ่ายด้วยนะครับ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน ตามแนวทางของ ไทยแลนด์ 4.0

2. โครงการส่งเสริมเมืองสมุนไพร ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีชื่อเสียงเรื่องการพัฒนาสมุนไพร และการแพทย์แผนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ถูกคัดเลือกจากกระทรวงสาธารณสุข ให้นำร่องเป็นเมืองสมุนไพรอย่างครบวงจร เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับสมุนไพรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเศรษฐกิจในทุกชุมชน จุดประกายให้ผู้คนในสังคมเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทย จากการแปรรูปเป็นยา แล้วขยายไปยังอาหารเสริม เครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม บนพื้นฐานของภูมิปัญญาและวิชาการสมัยใหม่ ที่มีการควบคุมคุณภาพ และยึดมาตรฐานสากล จนได้รับความสนใจจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมา กฎระเบียบทางราชการไม่เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสามารถขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งรัฐบาลปัจจุบัน ได้ผลักดันกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับแรก เพื่อแก้ไขปัญหาในอดีต พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งเข้าสู่การเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ และมีผลิตภัณฑ์ชั้นนำของภูมิภาค ทั้งนี้ โดยการรวบรวมภูมิปัญญาและองค์ความรู้สมุนไพรไทย เพื่อจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ และจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาของประเทศ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม และการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล รวมทั้งการส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรค และการส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ ที่มุ่งสู่การขยายศักยภาพของสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับประเด็นสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทย รัฐบาลนี้ ได้ผลักดันอีกกฎหมายที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ก็คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นนักสูบหน้าใหม่ ไม่ให้เข้าได้เข้าสู่วงจรยาเสพติดอื่นๆ ในอนาคต เป็นกฎหมายที่สังคมไทยต้องการมานาน แต่ไม่สามารถออกเป็นกฎหมายได้ ต้องใช้เวลาหลายปีก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ

ท่านทราบไหมครับว่าบุหรี่ ฆ่าคนไทยปีละกว่า 50,000 คน หรือญาติพี่น้องของเรา ต้องเสียชีวิตเพราะบุหรี่ ทุกๆ 10 นาที และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติปีละกว่า 52,000 ล้านบาท ดังนั้น การผลักดันกฎหมายนี้ จึงเป็นเครื่องแสดงความจริงใจ และห่วงใยของรัฐบาลและ คสช. ที่มีต่อประเทศชาติ และเยาวชนของชาติ ซึ่งจะเป็นพลังของแผ่นดินในอนาคต อย่าไปบิดเบือนนะครับ จากเรื่องเราพยายามดูแลเรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ไปเอื้อประโยชน์ รังแกผู้มีรายได้น้อย หรือไม่มีเงินใช้ ก็ต้องไปรีดภาษีอะไรทำนองนี้ ผมต้องการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ วันนี้ ขอรณรงค์ให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ดูแลสุขภาพ ใส่ใจคนรอบข้าง ให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงเข้มแข็งอยู่เสมอ เราจะได้ร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยสู่สิ่งที่ดีกว่าวันนี้ ยิ่งๆ ขึ้นไป

ส่วนในเรื่องประเด็นทุจริต ติดสินบน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ เพราะหลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ให้ความสำคัญและให้ความสนใจในการเร่งแก้ไขปัญหาทุจริต ซึ่งก็เป็นหนึ่งในต้นตอหรือสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราก็ได้รับข้อมูลข่าวสารที่นำมาสู่การเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตด้านต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เกือบทุกเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว มีอายุความพอสมควร แต่เพิ่งมาเห็น มารับรู้ ผมขอเรียนว่าภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ และก็ได้นำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย ทั้งในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาให้การบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน ของนักลงทุน ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการเปิดกว้างรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกระดับ ในทุกมิติ และก็พยายามดำเนินมาตรการที่จะปิดช่องโหว่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาครัฐ อย่างที่เพิ่งได้มีการดำเนินการไปในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ

สำหรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ที่ภาครัฐได้มา เราจะพยายามดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย และต้องการทำให้เห็นผล เพื่อสร้างบรรทัดฐาน ความถูกต้อง ความสุจริต ให้สังคมไทย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกหลานของเรา

ผมขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันอีกแรง เมื่อเจอปัญหาทุจริตติดสินบน ก็อย่าปล่อยผ่าน อย่าให้ปัญหาลุกลาม อย่ามองความสะดวกส่วนตัว ทำให้เกิดการทุจริต สมยอม เหล่านี้มันเป็นปัญหาสังคมที่แก้ไขได้ยาก มาแก้ปลายเหตุมันก็มีปัญหาทั้งสิ้น กฎหมายก็มีอยู่แล้ว

พี่น้องประชาชนครับ ผมขอประชาสัมพันธ์อีกงานที่มีความสำคัญ และเป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพี่น้องชาวไทย ก็คือโครงการปั่นรวมใจไทย ครั้งที่ 2ตอน "จชต. กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน" โดยจะจัดขึ้นช่วงวันที่ 9 ถึง 18 มีนาคมนี้ รวม 10 วัน ซึ่งจะมีนักปั่นจักรยานหลัก พร้อมด้วยนักปั่นสมัครเล่นในพื้นที่ร่วมกันปั่นจักรยานไปตามเส้นทางในพื้นที่เมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ได้แก่ อำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี อำเภอสุไหงโกลก จ.นราธิวาส และอำเภอเบตง จ.ยะลา ขอให้ปลอดภัยด้วย ทุกคน ทุกคนช่วยกันระมัดระวัง อย่าให้ใครมาทำลายสิ่งดีๆ ที่มันเกิดขึ้นใน จชต. ของเรา

โครงการนี้ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพ ความรัก ให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องชาวไทยทุกศาสนาแล้ว ทั้งคนที่อาศัยอยู่ในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดีแล้ว ยังจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ที่ช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ ทั้งในด้านการพัฒนาเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จะทำให้ประชาชนมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามชื่อของโครงการอีกด้วย

ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ที่จะมีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เราจะต้องร่วมกันเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับปวงชนชาวไทย และชาวต่างชาติ เพื่อจะสร้างโอกาสทางธุรกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้จงได้

สุดท้ายนี้ สำหรับในส่วนกลาง ที่กรุงเทพฯ ก็มีการจัดกิจกรรมสนับสนุนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ การเปิดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ภายใต้แนวคิด "วิถีไทยชายแดนใต้ กินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน" ที่ใช้ชื่อเดียวกันกับโครงการปั่นจักรยานที่ผมได้พูดถึงไปแล้ว โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 24 มีนาคมนี้ ที่ศูนย์การอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

ในงานนี้ได้คัดสรรสุดยอดของดีมีคุณภาพ ทั้งอาหารพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และการสาธิตรูปแบบการดำเนินวิถีชีวิต ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มานำเสนอให้ประชาชนที่สนใจได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม ในการจัดงานนี้เป็นโอกาสที่ดีในการที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกระดับและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วยให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า สามารถดำรงชีพได้ตามปกติ ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสามารถต่อยอดธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดชายแดนใต้อีกทางหนึ่งด้วย ผมขอเชิญทุกท่านมาร่วมงานนะครับ เมื่อวานผมได้ข่าวว่าขายได้ 5 ล้านกว่าบาท วันเดียว รับรองว่าจะไม่ผิดหวังนะครับ

ขอบคุณครับขอให้ทุกคนมีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น