xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ ร่วม กษ.พัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลวิจัยเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานงานด้านการเกษตรในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิจัยหรือการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง “การพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ” ภายในงาน“การขับเคลื่อนงานวิจัยการเกษตร สู่ ไทยแลนด์ 4.0” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 รวม 11 หน่วยงาน ซึ่งกรมชลประทานได้ลงนามร่วมกับ 8 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่เป็นแกนหลักของฐานข้อมูล ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลงานวิจัยของประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแกนหลักในการพัฒนาซอฟต์แวร์ในการเชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหลักจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่มีงานวิจัยหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูลงานวิจัยการเกษตรและงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การนำเข้า เชื่อมโยง สืบค้น สำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันและให้บริการข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรแก่ทุกภาคส่วน และมาตรการบูรณาการข้อมูลความรู้ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวอีกว่า การพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ครั้งนี้มีผลดีอย่างยิ่งกับกรมชลประทานเพราะสามารถนำมาเป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านการวางแผน พัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมมาใช้ในงานวิจัยเรื่องการกำจัดวัชพืชทางน้ำ โดยเฉพาะวัชพืชอย่างผักตบชวาที่รัฐบาลได้กำหนดให้การกำจัดผักตบชวาเป็นวาระแห่งชาติ หรือการวิจัยในเรื่องการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนาแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงอีกด้วย รวมทั้งงานวิจัยการใช้น้ำด้านชลประทาน เรามีการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องมือด้านการสำรวจซึ่งเป็นการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพทางอากาศหรือโดรน ในการบินสำรวจสภาพลุ่มน้ำทิศทางการไหลของน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่กรมชลประทานได้รับรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมาอีกด้วย ทำให้การบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาการเกษตรชลประทานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อปรับระดับพื้นที่ทำการเกษตรให้เหมาะสมและเพียงพอที่จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ชลประทาน การวางแผนให้เหมาะสมกับพื้นที่ Agri-Map ที่นำมาช่วยออกแบบระบบการชลประทาน อาทิ การออกแบบคลองส่งน้ำให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตร และการวางแผนสำหรับการส่งน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น