xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลชี้ ปชช.ยอมรับได้หากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปเกือบ 72%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง การปรองดอง และความขัดแย้งของคนในชาติ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ 2560 กรณีศึกษาจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงการยอมรับ หากการเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก เนื่องจากรัฐบาล และ คสช.กำลังหารือกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับการปรองดองอยู่ในขณะนี้ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 ระบุว่า ยอมรับได้ ขณะที่ ร้อยละ 21.68 ระบุว่า ยอมรับไม่ได้ และร้อยละ 7.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรองดองที่รัฐบาล และ คสช.กำลังหารือกับทุกฝ่ายอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นเกมการเมืองของรัฐบาล และ คสช.ที่ต้องการรักษาอำนาจ ยึดติด ต่อรองอำนาจทางการเมือง หรือความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง โดยปราศจากเกมการเมืองพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.72 ระบุว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาล และ คสช.ที่จะปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงโดยปราศจากเกมการเมือง ขณะที่ ร้อยละ 23.92 ระบุว่า เป็นเกมการเมืองของรัฐบาล และ คสช.ที่ต้องการรักษาอำนาจ ยึดติด ต่อรองอำนาจทางการเมือง และร้อยละ 17.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองว่า จะสามารถช่วยลดความขัดแย้งของคนในชาติได้หรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.32 ระบุว่า ได้ โดยประชาชนให้เหตุผลว่า เพราะความปรองดอง ช่วยทำให้คนในชาติมีความเข้าใจกันมากขึ้น เกิดความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียว มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นความตั้งใจของรัฐบาลและ คสช.ที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งได้เชิญหลายๆ ฝ่ายมาหารือและพูดคุยครึ่งทางแล้ว น่าจะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และที่ผ่านมาได้มีการวางกรอบ และแนวทางการสร้างความปรองดองไว้แล้ว ทุกฝ่ายน่าจะเย็นลงและไม่ต้องการเห็นประเทศกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก และมีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้
ขณะที่ร้อยละ 24.72 ระบุว่า ไม่ได้ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ไม่ได้นั้น ให้เหตุผลว่า เพราะบุคคลที่เข้ามาเป็นคนกลางในการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดอง ยังไม่มีความยุติธรรม หรือความเป็นกลางพอ รวมไปถึงการใช้อำนาจในการจัดการปัญหาความขัดแย้งยังไม่เด็ดขาด และในสังคมยังมีบางกลุ่มที่ยังมีความขัดแย้ง เห็นพ้องต่างทางความคิดเห็นและมุมมองอยู่ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับและไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน ยังมีการหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง มีความเหลื่อมล้ำสองมาตรฐาน น่าจะแก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม จิตสำนึกของคนไทยชอบทำอะไรตามใจตนเอง และบางส่วนไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และร้อยละ 10.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งของคนในชาติอย่างที่ผ่านๆ มา ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ภายหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นตามโรดแมป ของ คสช.ที่วางไว้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.32 เชื่อว่า จะเกิดความขัดแย้งอีก เพราะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ต่างคนต่างมีอำนาจ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ถึงแม้ว่าไม่ใช่รัฐบาล คสช.แต่เป็นรัฐบาลชุดอื่น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ความเห็นไม่ตรงกัน มีการขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ก็เกิดความขัดแย้งเหมือนเดิมอยู่ดี แต่อาจจะมาในรูปแบบใหม่ ขณะที่พรรคการเมืองเดิมๆ คนเดิมๆ ยังคงอยู่ ต้องมีทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งเป็นของคู่กันมาโดยตลอด ขณะที่ ร้อยละ 25.76 เชื่อว่า จะไม่เกิดความขัดแย้งอีก โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลชุดนี้ได้วางแนวทางในการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมารู้สึกว่าบ้านเมืองมีความสงบขึ้น ผู้คนมีความรักชาติ เกิดความสามัคคีมากขึ้น ไม่ทะเลาะกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นทำให้ได้ผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการยอมรับมากขึ้น น่าจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองลงได้ และร้อยละ 19.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น