xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 27 มกราคม 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่านแม้ว่าในปัจจุบัน สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่จะคลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงเป็นห่วงราษฎรผู้ประสบภัย ได้มีพระกระแสรับสั่งให้รัฐบาล ดูแลพี่น้องประชาชน ให้มีความสุขมีความพึงพอใจ และกลับมาใช้ชีวิตได้ อย่างเป็นปกติสุขให้ได้โดยเร็ว ทรงโปรดให้หน่วยงานในพระองค์ และองคมนตรีลงพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือและตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือของราชการกับประชาชน ได้หารือการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลอีกด้วยนะครับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อพี่น้องประสบภัยอย่างหาที่สุดไม่ได้ นอกจากนี้ ได้ทรงกำชับให้รัฐบาล ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีแบบแผน และมีแผนงานที่ชัดเจน เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุในทุกพื้นที่ สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและอาจเกิดซ้ำขึ้นอีก

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้รับแนวทางพระราชทานดังกล่าวใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปดำเนินการ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตอุทกภัยในช่วงแรก ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จนถึงในปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐบาลนี้จัดทำขึ้นสำหรับตอบสนองต่อ ทุกสาธารณภัย ของไทยตามปฏิทินสาธารณภัยในรอบปีทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง ภัยจากดินโคลนถล่ม วาตภัย อัคคีภัย ภัยจากไฟป่าและหมอกควัน แผ่นดินไหวและสึนามิ ภัยจากการคมนาคม และโรคระบาดอีกด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการสาธารณภัยเป็นแบบก้าวหน้าเชิงรุกกว่าที่เคยเป็นผ่านมานะครับ และก็เป็นไปตามหลักสากลคือรู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน

สำหรับ อุทกภัย ภาคใต้ในครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้บูรณาการ ทั้งหน่วยงานและงบประมาณ ให้มีการบริหารจัดการที่ประสานสอดคล้องกัน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงไปจนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ ช่วยให้การระดมสรรพกำลังและทรัพยากรรวมทั้งเงินและสิ่งของบริจาค ได้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบมีทิศทางที่ชัดเจนที่มุ่งไปสู่กลุ่มเป้าหมายทุกประเภท ตามความเร่งด่วนความสำคัญ เช่น ในเบื้องต้นประชาชนต้องปลอดภัย การติดต่อสื่อสารจะต้องไม่ถูกตัดขาด อาหาร และน้ำดื่ม ต้องไม่ขาดแคลน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และสิ่งของที่จำเป็นต้องได้รับการแจกจ่ายอย่างทั่วถึง จากนั้น ลำดับต่อมาเมื่อประชาชนเริ่มช่วยตัวเองได้ ต้องสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ประกอบอาชีพทำมาหากินได้ในเวลาต่อมา โดยโครงสร้างพื้นฐาน ทุกระบบ ต้องได้รับการบูรณะ ให้สามารถใช้การได้ ทั้งถนนหนทาง สะพาน รถไฟ สนามบิน ไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการในระยะสั้นเร่งด่วน ทั้งสิ้น

นอกจากหน่วยงานราชการ และเอกชน จะมีบทบาทในการทำงานร่วมกัน ตามแนวทางประชารัฐแล้ว ผมขอขอบคุณ คณะครู นักเรียนอาชีวะ และนักเรียน กศน. จากทั่วประเทศที่ได้รวมตัวกันทำความดี จัดเป็นทีม ๆ ละ 15 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นคน ในการช่วยเหลือฟื้นฟูให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในการซ่อมรถยนต์ กว่า 900 คัน ซ่อมรถจักรยานยนต์ เกือบ 38,000 คัน ซ่อมเครื่องจักรกล ราว 4,700 เครื่อง ซ่อมบ้านเรือน 1,400 กว่าครัวเรือน และซ่อมเครื่องไฟฟ้าเกือบ 5 หมื่นรายการ เป็นต้นนะครับ ซึ่งคงจะต้องทำต่อไป

เมื่อวานนี้ ผมได้เดินทางไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งห้วงที่ผ่านมานั้นทุกหน่วยงานได้ลงพื้นที่และร่วมกัน แก้ไขปัญหา รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง การลงไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ประสบภัยของผมและคณะในครั้งนี้ก็เพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มาบริการ ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน รวมถึงพี่น้องประชาชนอื่น ๆ และจิตอาสาที่มาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ ที่สำคัญก็คือได้ติดตามการทำงานของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติส่วนหน้า ว่ามีปัญหาข้อขัดข้องอย่างไร และเน้นย้ำให้เตรียมการฟื้นฟูให้เป็นระบบ แบบบูรณาการแม้ปัจจุบันนั้นสถานการณ์ก็ดีขึ้น น้ำลดลง ตามลำดับแต่อย่างไรก็ตามกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติส่วนหน้า จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะบรรลุภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องผู้ประสบภัย นำความสุขและชีวิตที่เป็นปกติสุข กลับคืนมาโดยเร็ว ผมได้กำชับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(ส่วนหน้า) และเจ้าหน้าที่ว่าต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ หากจะมีอุทกภัยเกิดขึ้นอีก ช่วงนี้งานที่สำคัญ คือ การฟื้นฟู ทั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ ให้เร็ว เพื่อสร้างความยั่งยืน ในระยะต่อไปนะครับ การดำเนินการในขั้นต่อไป ในระยะยาวและยั่งยืนนั้น รัฐบาลได้น้อมนำแนวทางการแก้ปัญหาทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐาน ข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน การพยากรณ์อากาศ การอ่านแผนที่ ภาพถ่ายดาวเทียม และภูมิศาสตร์ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเดิม ให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก โดยใช้วิกฤตนี้ เป็นโอกาสในการปรับผังเมือง ผังน้ำ ผังการคมนาคม ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อกัน และไม่ฝืนธรรมชาติ การดูแลป่าพลุ พื้นที่ซับน้ำ แก้มลิง Flood way ทะเลสาบ คลองบายพาส ธรรมชาติและสร้างขึ้นใหม่

พื้นที่ซับน้ำ แก้มลิง Flood way ทะเลสาบ คลองบายพาส ธรรมชาติและสร้างขึ้นใหม่ ประตูเปิด ปิดน้ำ ให้สอดคล้องกับน้ำทะเลหนุน ทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักวิชาการของหน่วยงาน และหลักตามธรรมชาติที่ปราชญ์ชาวบ้าน มีความคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหากแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้ แต่ต้องไม่สร้างปัญหาเรื่องภัยแล้งน้ำแล้งต่อไปด้วย ทั้งนี้ ศาสตร์พระราชาสอนให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปกติสุข ซึ่งเราจะต้องดูแล ตั้งแต่ป่าบนภูเขา เป็นทั้งป่าต้นน้ำ รักษาสมดุลระบบนิเวศ และช่วยป้องกันน้ำป่า ไฟป่าลงมาตามเส้นทางน้ำ แม่น้ำ แหล่งน้ำ แล้วไปสู่ทะเล หากเรามีวินัย เดินตามรอยพระบาท อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ ต้นทางน้ำ กลางทาง ปลายทางน้ำ คือ มหาสมุทร เราก็จะห่างไกลจาก น้ำท่วม น้ำแล้ง ได้อย่างยั่งยืน

พี่น้องประชาชนครับ สิ่งหนึ่งที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ อาจยังไม่เข้าใจ ไม่ได้ติดตาม หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญ แต่รัฐบาลนี้ ได้เร่งรัดให้ดำเนินการ มาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็คือเรื่องผังเมือง ถ้านำอุทาหรณ์จากน้ำท่วมภาคใต้ครั้งที่แล้ว มาพิจารณาถึงความไม่สอดคล้องกันแล้ว จะเห็นว่าธรรมชาติ กับ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ ผังน้ำ กับ ผังเมือง นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตมากกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อการถือครองที่ดินการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน แบบไร้การควบคุม ไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นไปตามแบบแผน ตามหลักวิชาการผังเมืองที่สำคัญก็คือ ผิดกฎหมาย และสิ่งปลูกสร้าง เส้นทางคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง ที่กีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำ จากแนวเขา ลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ แต่เป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องวางแผน วางผังเมือง ผังชุมชน ให้สอดคล้องเหมาะสม 10 กว่าปี ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม เฉลี่ยแล้ว เพียง 12 ผังต่อปี ทำให้เรามีผังเมืองรวมของจังหวัด เพียง 19 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ 2 ปีกว่าของรัฐบาลนี้มีการประกาศใช้ผังเมืองรวม เฉลี่ย 39 ผังต่อปี ทำให้ปัจจุบัน 49 จังหวัด มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมแล้ว และจะดำเนินการให้ครบถ้วน ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ สิ่งนี้ ไม่ใช่เพียงแสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงาน เท่านั้น หากแต่เป็นการทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ และมียุทธศาสตร์ เนื่องจากผังเมืองนั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อ ผังน้ำ ตามที่ผมได้กล่าวไว้แล้ว แต่มีความเชื่อมโยงกับการโซนนิ่งพื้นที่ คือการใช้พื้นที่ของชุมชน เมือง และประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พื้นที่ราชการ พื้นที่การศึกษา พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พื้นที่ป่า ชลประทานพื้นที่กำจัดขยะ พื้นที่ผลิตไฟฟ้า ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกปี เป็นต้น

พื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ ต้องไม่รบกวน และไม่สร้างปัญหา ซึ่งกันและกัน ซึ่งเรามองในภาพรวม ก็จะเห็นมีพื้นที่การค้า การลงทุน เมืองท่า เมืองชายแดน เมืองท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัด เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ทั้งหมดนี้ จะต้องเชื่อมโยงกัน ในเรื่องของการเดินทางของแรงงาน การขนส่งสินค้า การเคลื่อนย้ายประชาชน การสัญจรของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ทั้งหมดนี้ เป็นโจทย์ ของเรา ที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวม ของทั้งประเทศ ที่ส่งผลกระทบทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมโดยรวมเกี่ยวข้องกับการวางแผนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมของประเทศ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เกี่ยวข้องกับการกระจายความเจริญ จากเขตเมืองสู่ท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่ผมอยากให้ทุกคนได้เข้าใจ ตระหนัก และร่วมมือกับรัฐบาล ในการจะเดินหน้าประเทศ ในการแก้ไขสิ่งที่ผิด ให้ถูกต้อง เสียตั้งแต่วันนี้ อีกหลายเรื่อง ที่รัฐบาลและ คสช. ต้องการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ซึ่งการปฏิรูปต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาตินั้น จำเป็นต้องการความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน รวมทั้ง ความปรองดองของทุกๆ ฝ่าย อย่างไรก็ตาม เรื่องปากท้อง ยังเป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้ามุ่งสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 เป็นเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ผลักดัน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ เกี่ยวกับการดูแลค่าครองชีพ การบริหารจัดการสินค้าเกษตร การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ และการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น

1.การพัฒนาโชห่วยทั่วประเทศภายใต้โครงการ ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้ ช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ 35,500 ล้านบาท

2.โครงการประชารัฐร่วมใจ จัดหาปัจจัยการผลิต ชะลอการขายข้าวและนำผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจาก 29 ประเทศทั่วโลก มาเจรจาซื้อขายข้าว มันสำปะหลัง สามารถดึงราคาข้าวจาก 8,500 บาท เป็น 12,000 บาทต่อตัน และทวงคืนแชมป์ ส่งออกข้าวในต่างประเทศ ได้รับรางวัลข้าวดีเด่น ของโลกจากงาน World Rice Conference 2016 รวมทั้ง บริหารจัดการพืชเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และผลไม้ ทำให้เกิดยอดขายกว่า 90,000 ล้านบาท

3.การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการโดยได้มีการผลักดันกฎหมายสำคัญ 10 ฉบับ เช่น กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด และ พระราชบัญญัติจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียวเป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และสนับสนุน SME นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับตลาดออนไลน์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการและเกษตรกรให้มีช่องทางการขายสินค้าเพิ่มเติม เช่น เว็บไซต์ THAITRADE.COM และโครงการ Smart Online SME ซึ่งได้รับรางวัล WSIS Prize 2016 จากองค์การสหประชาชาติ (UN) ด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการค้าออนไลน์ “ดีที่สุดในโลก”

และ 4.การผลักดันการค้า–การลงทุนระหว่างประเทศ เน้นการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ควบคู่กับการทำเอฟทีเอ การสร้างมูลค่าส่งออกปีละกว่า 7.5 ล้านล้านบาท ขยายตัวเป็นลำดับที่ 11 ของโลก สำหรับนวัตกรรมใหม่ด้านการเงินที่รัฐบาลส่งเสริม และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันนี้ ก็คือพร้อมเพย์ ภายใต้คำขวัญ "การเงินยุคใหม่ คนไทยยุคดิจิทัล"ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0 เป็นการบริการทางเลือกใหม่ในการโอนเงินที่เสียค่าธรรมเนียมถูกลงมาก เช่น โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ การลดธุรกรรมต่างๆ ด้วยเงินสดลงไป 30 % จากปัจจุบัน จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนการจัดการเงินสดในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ผมถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของเราในยุคดิจิทัลที่ใช้เวลาเพียงปีเศษๆ เท่านั้น ก็สามารถพัฒนาระบบได้สำเร็จ เร็วกว่าหลายๆ ประเทศที่ต้องการจะมีบริการแบบนี้ แต่ใช้เวลา 3-5 ปี ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ทั้งนี้การโอนเงินทำได้ไม่ยาก สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โอนได้ที่ทั้งตู้เอทีเอ็ม หรือโมบายแบงก์กิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ใช้เพียงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือตามความพอใจ ไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีเงินฝากอย่างเดิม ในอนาคตการจับจ่ายซื้อของ หรือโอนเงินให้กันก็จะทำได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด เหมาะกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งภาครัฐได้นำร่องการใช้พร้อมเพย์ไปแล้ว เช่น การโอนเงินสวัสดิการของรัฐ สำหรับช่วยเหลือการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่เปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และจะเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้งเร็วๆ นี้ ขอให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

พี่น้องประชาชนที่รักครับ หลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น เราให้ความสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศ โดยเน้นหนักไปที่การส่งออก และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่เป็นการลงทุนที่้น้อยกว่า ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมประกอบกับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และการส่งเสริมที่ครบวงจร ก็จะทำให้ประเทศไทยเรานั้นมีเงินทุนเงินเวียนในระบบ เพื่อค้ำจุนเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในปี 2559 ภาคการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 1.64 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 0.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของจีดีพี ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 12.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2558 โดยตั้งแต่ปี 2556-2558 รายได้จากการท่องเที่ยวมีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปี 2560 คาดว่าเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวที่ตั้งไว้เติบโตร้อยละ 10 จะก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18.6 ของจีดีพี และคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 13.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากปี 2559

ในวันนี้ผมอยากเชิญชวนพวกเราทุกคน ได้ร่วมเทศกาลเที่ยวเมืองไทยประจำปี 2560 ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคมนี้ เวลา 14.00-22.00 น. ณ สวนลุมพินี ซึ่งนอกจากจะนำเสนอรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และรวบรวมของดีของเด่นจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยแล้ว ยังช่วยปลุกกระแสท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง เพื่อหนุนตลาดการท่องเที่ยวของเราให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ กิจกรรมดีๆ ที่ผมอยากแนะนำ และส่งเสริมให้ดำเนินการกันทั่วประเทศ ได้แก่ กิจกรรมแต่งไทยได้โชค โครงการหลวง ประชารัฐสุขใจ และโครงการ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย

สำหรับการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ การใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร ที่สะอาดปลอดภัย ผลิตจากกระดาษ สามารถย่อยสลายได้ 100% การรับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้งานแล้วจากผู้ออกร้านจำหน่ายอาหารในงาน โดยคาดว่าจะมีปริมาณการใช้น้ำมันพืช 1,500 ลิตรต่อวัน เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซล นำกลับมาใช้งานต่อไป สำหรับโครงการขยะให้โชค จะมุ่งสร้างวัฒนธรรมในการรับผิดชอบต่อสังและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณขยะจากต้นทาง สร้างระบบจัดการขยะใส่ใจสิ่งแวดล้อม การแยกที่ทิ้งขยะเป็น 3 ส่วน คือ เศษอาหาร และขยะทั่วไป ขวดแก้ว และกระป๋อง พลาสติด และโซนพิเศษรวมน้ำใจมอบให้ชาวใต้ พร้อมกิจกรรมประมูลสินค้า 5 ภูมิภาค เพื่อจะนำรายได้ทั้งหมดมอบให้แก่พี่น้องชาวใต้ผู้ประสบอุทกภัย

สิ่งที่รัฐบาลเดินหน้าเพื่อขยายศักยภาพการท่องเที่ยวมีอย่างน้อย 2 ประการก็คือ 1.การมุ่งเน้นนโยบายการกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง โดยการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมจากเมืองสู่เมือง จากชุมชนสู่ชุมชน และ 2.การจัดทำฐานข้อมูลการท่องเที่ยวทั้งข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก การเดินทาง ค่าใช้จ่าย ทั้งที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สารสนเทศ สื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย และสะดวกในการสืบค้นข้อมูล และมีความแม่นยำ สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยด้วยกันเอง ที่สำคัญก็คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว การสร้างความประทับใจด้วยรอยยิ้ม ความมีน้ำใจบริการดี มีความสะอาด สิ่งเหล่านี้จะช่วยผูกมัดใจให้หวนกลับมาเยือนบ้านเมืองเราครั้งแล้วครั้งเล่า

อีกกรณีก็คือ การที่เราจะปฏิรูปประเทศ เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับรายได้เศรษฐกิจระดับฐานราก ให้เกิดความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การก่อสร้างระบบขนส่ง ถนน ทางรถไฟ สาธารณูปโภคพื้นฐาน พลังงาน การแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องมีการจัดทำโครงการ งบประมาณ และมีการจัดทำประชาพิจารณ์ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาล และ คสช. ไม่ได้ยกเว้นเรื่องเหล่านี้ หลายโครงการมีปัญหาจากประชาชน คงไม่เข้าใจข้อเท็จจริง ผลดี ผลเสีย ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ว่าอะไรคือผลดีมากว่าผลเสีย หลายอย่างถูกบิดเบือนข้อมูลจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ไม่หวังดี นอกพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่เกิดขึ้น ไม่ตรงความต้องการของประชาชนในพื้นที่จนเกิดความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัย ภัยแล้ง การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจฐานราก มีโอกาสมีพื้นที่มากขึ้นในการหาอาชีพรายได้ อยากให้ประชาชนสังคมได้กรุณาช่วยกันคิดพิจารณา ให้ถ่องแท้

รัฐบาล และ คสช.นั้น ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อหวังผลประโยชน์ใดๆ มุ่งแต่เพียงให้ประชาชนได้มีการยกระดับ มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้พิจารณาถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลไปพร้อมๆกัน

เรื่องการทำงานของ ป.ย.ป. ขอให้มีโอกาสได้เริ่มมีการทำงานก่อน อย่าเพิ่งแสดงความคิดเห็นในเวลานี้ ไม่ว่าจะจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม ซึ่งก็อาจจะยังไม่ตรงกัน ให้แสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการปรองดอง หากยังเป็นเช่นนี้ ก็แน่นอนว่า จะยังไม่สำเร็จตั้งแต่ต้น ขอให้ช่วยกันทำให้ถูกต้อง คณะกรรมการปรองดองจะมีคณะใหญ่ และคณะอนุกรรมการแต่ละฝ่าย เช่น คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายประชาชน ที่ต้องร่วมกันเสนอคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณา จากนั้นต้องนำไปเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ย.ป.และรัฐบาลต่อไป

สุดท้ายนี้ ผมขอกล่าวถึงเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง อาจจะสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ เราต้องทำให้คนไทยสังคมไทย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีสติปัญญา ในการที่จะแยกแยะสิ่งหนึ่งออกจากสิ่งหนึ่ง เช่น ความจริง ความเท็จ ความดี ความเลว ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลายๆแหล่ง โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือด้วยก่อนที่จะเชื่อจะพูด จะขยายความต่อไป หลายๆอย่างที่ทำได้ หลายอย่างที่ทำไม่ได้ หลายอย่างอาจจะทำได้เพียงบางส่วน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาผลกระทบ ว่าจะสร้างความเดือดร้อนแก่องค์กรประเทศชาติได้ การขยายความวิพากษ์วิจารณ์จนเกินเลย โดยปราศจากข้อมูลที่ถูกต้อง อาจจะเป็นการประจานความผิดเหล่านั้น ซึ่งเราควรจะแก้ไขให้ได้ด้วยตัวเราเอง ประเทศเราเอง โดยไม่ต้องให้โลกเขารับรู้ไปด้วย จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง อันตรายกับการที่เรากำลังพยายามปฏิรูปประเทศอยู่ในปัจจุบัน เรากำลังถูกจับตามองจากหลายองค์กรในต่างประเทศอยู่ การเอาชนะกัน หรือการดำเนินการใดๆที่ซ้ายสุด ขวาสุดโต่งเกินไป อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด เข้าใจว่าประเทศไทย กำลังมีความขัดแย้ง ไม่มั่นคง บ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ สิ่งดีๆเหล่านั้นที่เรากำลังทำมามากมายก็จะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร คนไทยด้วยกันยังไม่เข้าใจ แล้วต่างประเทศจะเข้าใจได้อย่างไร อยากให้คนไทยทุกคนรักศักดิ์ศรีของประเทศของเรา การกระทำความผิดใดๆขอให้ใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน อย่ามาตัดสินกันเอง พูดจากัน ขยายความจนความผิดส่วนบุคคล กลายเป็นความผิดขององค์กร ของรัฐบาล หรือของประเทศชาติไป

ผมขอฝากให้ทุกคนได้ใช้จิตสำนึก ใช้สติปัญญา ไม่ว่าจะกระทำการใดๆ รัฐบาล ข้าราชการ ภาคประชาสังคม ธุรกิจเอกชน สิทธิมนุษยชน ประชาชนทุกหมู่เหล่า ต้องสำนึกในความเป็นคนไทย รักประเทศไทยให้ถูกวิธี อย่ามองทุกอย่างเลวร้ายไปทั้งหมด ถึงแม้ว่าอาจจะทำไปด้วยความหวังดี เจตนาดี แต่หลายเรื่องดูจะเลยเถิดไป ทำให้ประเทศชาติเสียหาย สื่อโซเชียลมีเดียควรคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ให้มาก ไม่มีใครทำอะไรได้ 100% ทันที ทุกอย่างต้องเริ่มจาก 1% ก่อนเสมอ เหมือนจะเริ่มจาก 10 ก็ต้องนับ 1 อยู่เสมอ ทำไมเราจะต้องไปขยายความต่อเติมตัวเลข จากการประเมินของภายนอกให้ดูแย่ไปกว่าเดิม เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาภายในของเราด้วยความเป็นจริง ด้วยความเป็นกลาง และจิตใจที่เป็นธรรม ต่างประเทศก็คงจะเข้าใจเราได้ในไม่ช้า ผมคิดว่าเขาเข้าใจ แต่เขาไม่วางใจว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ หากยังคงเป็นอยู่โอกาสของเราที่มีอยู่มากมาย จะไม่เหลืออะไรไว้อีกเลย เมื่อนั้นเราจะมาสำนึกเสียใจกันภายหลังก็คงไม่มีประโยชน์​

เหมือนบทกลอนของคุณ นภาลัย สุวรรณธาดา บทหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า "ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง"

คิดดูนะครับ ว่าเราจะช่วยกันทำอย่างไร ทำอะไรกันบ้างก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันตรุษจีน ช่วยกันส่งน้ำใจ ห่วงใย ไปยังภาคใต้ด้วยนะครับที่กำลังน้ำท่วมอยู่ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น