xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการค้าน"พ.ร.บ.ชะลอฟ้อง"หวั่นคดีถูกอัยการตัดตอนเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา หรือกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญาที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ว่าหลักการของ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ระบุไว้ว่า คดีอาญาที่มีโทษจำคุกขั้นต่ำไม่เกิน 5 ปี เมื่อผู้ต้องหายอมรับผิด และผู้เสียหายมีการยกโทษให้ไม่ติดใจเอาความ ไม่ว่าจะได้รับการการชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ก็ตาม หากพนักงานอัยการเห็นสมควรไม่ควรฟ้อง อัยการก็จะสามารถใช้มาตรการชะลอการฟ้อง โดยการสั่งไม่ฟ้องและให้คุมประพฤติ โดยอัยการเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวผ่านกรมคุมประพฤติของกระทรวงยุติธรรม และในระหว่างนี้ จะห้ามผู้เสียฟ้องคดีเอง และหากผู้เสียยื่นฟ้องคดีเอง ให้ถือว่าสิทธิในการฟ้องคดียุติ

"หลักการนี้อัยการกับพนักงานคุมประพฤติจะร่วมมือกัน โดยที่ศาลไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่ง พ.ร.บ.ชะลอฟ้องดังกล่าวนั้นครอบคลุมทั้งผิดต่อส่วนตัวและความผิดอาญาแผ่นดินอีกด้วย อย่างความผิด เช่น ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก ข่มขืนกระทำชำเราที่อายุเกิน 20 ปี ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ยอมความได้ ขอเพียงมีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี"

ส่วนที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้ยังได้กำหนดให้คดีที่เกิดจากการกระทำโดยประมาท เช่น การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย บาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิต ซึ่งคดีเหล่านี้แม้จะมีอัตตราโทษสูงเกิน 5 ปี ก็จะเข้าสู่มาตรการชะลอการฟ้องได้ อย่างกรณีคนขับรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด หรือคดีก๊าซรั่วที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีคนตายจำนวนหลายคน ก็จะได้เข้าสู่มาตรการชะลอฟ้อง

ทั้งนี้หากกฎหมายดังกล่าวออกมานั้น ขาดการตรวจสอบจากศาล เนื่องจากบางครั้งเหยื่อหรือผู้เสียหายก็อาจได้รับการข่มขู่ว่า ถ้าไม่ยอมความก็อาจถูกบีบให้ยอมความ ผู้ที่อ่อนแอกว่าหรือประชาชนที่ยากจนก็จะเสียเปรียบและถูกละเมิดสิทธิการฟ้องคดี ในคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน อย่างเช่น คดีลักทรัพย์ คดีบุกรุกป่า แอบตัดต้นไม้ในป่าสงวน ล่าสัตว์ป่า พกพาอาวุธปืน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งผู้เสียหายคือรัฐ และความผิดที่มีโทษน้อย แต่มีพฤติการณ์ที่อุกอาจทำให้สังคมได้รับความเดือดร้อน เช่น ทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ซึ่งผู้ก่อเหตุจะมีพฤติกรรม นักเลง อันธพาล ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายหรือทำให้เสียทรัพย์ หรือการกระทำที่น่าเกลียด ทำให้สังคมกระทบกระเทือนจิตใจ เข้าสู่ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ด้วย

อีกทั้งสิทธิในการฟ้องคดีอาญาถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐธรรมนูญ แม้แต่ฉบับของอาจารย์มีชัยกำลังร่างอยู่ รับรองก็คือสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องคดีเอง พ.ร.บ.ที่ว่านี้มันไม่ได้ตอบโจทย์ และขัดแย้งกันต่อทฤษฎีกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งป้องกันการอาชญากรรม ป้องกันการประทุษร้ายต่อผู้เสียหาย และเป็นช่องทางว่า ผู้ที่ก่อเหตุรู้ว่ามีช่องทางการฟ้องอยู่ ก็สามารถที่จะกระทำความผิดที่มีโทษไม่เกิน 5 ปีมากขึ้น และพยายามขอใช้มาตรการการชะลอฟ้องนี้

นายศรีอัมพรกล่าวว่า จะเห็นได้ว่าประธานศาลฎีกา ได้ยื่นหนังสือทักท้วงไปแล้วในหลักการว่ายังไม่เหมาะสม และควรปรับแก้ไขหลายจุดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการแก้ไขจะต้องทำให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ต่อหน้าสาธารณชน ไม่ใช่ปิดประตูแอบกันเงียบๆ หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือไปก็รอฟังอยู่ เข้าใจว่าวันจันทร์จะมีการเลื่อนพิจารณาในเรื่องนี้ ในชั้นคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แต่เราก็กำลังติดตามในเรื่องนี้อยู่

ด้านนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) กล่าวว่า การที่ประธานศาลฎีกาได้ลงนามหนังสือแจ้งไปยัง ครม.และประธาน สนช. เพื่อขอทบทวนร่างกฎหมายที่ให้อำนาจอัยการสั่งชะลอการฟ้องและยุติคดีอาญาได้โดยขอให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน นับว่าเป็นส่งสัญญาณถึงรัฐบาลและ สนช.ให้ตระหนักว่าหากร่างกฎหมายออกมาใช้บังคับแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินการยุติธรรมในคดีอาญา และเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งในเมื่อพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 มาตรา 21 บัญญัติพนักงานอัยการเห็นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์ของประเทศ ก็ให้เสนอต่ออัยการสูงสุดใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีนั้นได้อยู่แล้ว

"อัยการสูงสุดยังมีอำนาจที่ใช้ดุลยพินิจไม่อุทธรณ์ไม่ฎีกาหรือแต่ฟ้องคดีไปแล้ว ต่อมาจะถอนฟ้องคดีนั้นก็ยังทำได้ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลต้องรีบร้อนเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวในตอนนี้ ซึ่งปกติประธานศาลฎีกาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอต่อ สนช. แต่ครั้งนี้ประธานศาลฎีกาคงรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก และคงเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะนำมาซึ่งความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย" นายสมชาติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น