xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เรียกร้อง 6 ชาติลุ่มน้ำโขงร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และกล่าวเปิดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ "Shared River, Shared Future"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า สมาชิกทั้ง 6 ประเทศ เชื่อมต่อกันด้วยแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง สายเดียวกันต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ประเทศสมาชิกจึงเผชิญกับความท้าทายร่วมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และเพื่อผลประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นพื้นฐานของการพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ความเป็นประชาคมแม่น้ำโขงในอนาคต โดยภารกิจที่ท้าทายของประเทศสมาชิก คือการกำหนดวิสัยทัศน์ของกรอบเพื่อดำเนินความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ และเพิ่มคุณค่าต่อกรอบความร่วมมืออื่นๆ ที่สำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ทั้ง 6 ประเทศต่างตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำสายเดียวกัน จึงควรใช้โอกาสและศักยภาพในการร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ตลอดจนเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ในการดำรงชีวิตด้านต่างๆ และเผชิญกับความท้าทายจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งคือการกำหนดแนวทางความร่วมมือที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ สำหรับประเทศไทยยินดีที่ประเทศสมาชิกตกลงที่จะดำเนินโครงการเร่งด่วนที่จะเน้นผลเป็นรูปธรรมภายในช่วง 1-2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ (โรดแม็พ) ของไทยด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จะเสริมสร้างให้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคก้าวไปด้วยกันและเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการความร่วมมือของประเทศสมาชิก ก่อนจะเข้าร่วมการแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีจีนและประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น