xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระเกียรติ”สั่งสทศ.เปิดสเปคข้อสอบโอเน็ตให้นร.รู้ล่วงหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) ที่สนามสอบโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ระดับชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งมีการจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 6-7 ก.พ.2559 มีผู้มีสิทธิ์สอบทั่วประเทศ 440,592 คน ใน 18 ศูนย์สอบ 413 สนามสอบ ในจำนวนนี้มีเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น (ตาบอด และตาเลือนราง) 63 คน สำหรับสนามสอบโรงเรียนวัดนวลนรดิศ มีผู้มีสิทธิ์สอบ 1,156 คน 40 ห้องสอบ มีเด็กพิเศษ 4 คน ทั้งนี้ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการปรับลดจำนวนวิชาที่ใช้สอบโอเน็ตลงจากเดิม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ โดยวันที่ 6 ก.พ. สอบวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนวันที่ 7 ก.พ. สอบวิชา ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ โดยจะประกาศผลสอบวันที่ 21 มี.ค. 2559

สำหรับภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเด็กหลายคนทำข้อสอบเสร็จก่อนเวลา บางคนจึงต้องนอนฟุบหน้าลงกับโต๊ะ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ที่ สทศ. ต้องมาวิเคราะห์ว่าข้อสอบเป็นอย่างไร มีความง่ายไปหรือไม่ หรือเด็กทำไม่ได้จึงไม่อยากทำ หรือให้เวลาในการทำข้อสอบนานเกินไป อย่างไรก็ตามการสอบโอเน็ตสำหรับเด็กม.6 นั้น ถือเป็นการสอบครั้งสำคัญที่มีเดิมพันชีวิตสูง เพราะต้องนำคะแนนไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจบชั้นม.6 และเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงเป็นหน้าที่ที่ สทศ. ต้องทำให้ข้อสอบมีความยุติธรรม น่าเชื่อถือ และให้ทุกคนเกิดความมั่นใจในข้อสอบ

“ผมอยากให้ สทศ. ประกาศรายละเอียดของข้อสอบโอเน็ต รวมทั้งข้อสอบอื่นๆ ให้นักเรียนทุกคนทราบล่วงหน้าว่าจะสอบอะไรบ้าง เพราะทุกวันนี้ สทศ. บอกแต่สโคปแค่ขอบเขตของข้อสอบเท่านั้น ไม่ได้บอกสเปคว่าจะออกเรื่องอะไร แบบไหน อย่างไร ซึ่งผมคิดว่าการสอบที่ดีไม่ใช่ให้เด็กมาคาดเดาเอาเองว่าจะออกอะไร และการสอบต้องไม่ใช่การจับผิดเด็กว่าทำได้หรือไม่ได้ ต้องช่วยพัฒนาเด็กด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอยากให้มั่นใจว่า ศธ. ไม่ได้ละเลยเรื่องการทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งตนก็อยากให้มีการเชิญหน่วยงานภายนอกจากต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน เช่น ศูนย์ทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นต้น มาประเมินว่าข้อสอบ และการจัดสอบยังมีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา”

ขณะนี้ สทศ. มีคลังข้อสอบอยู่แล้ว แต่ผู้ที่ออกข้อสอบยังมีเพียงครูอาจารย์เท่านั้น ดังนั้นตนจึงมีแนวคิดให้ สทศ. เปิดกว้างให้บุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชา สามารถส่งข้อสอบมาให้ สทศ. ได้ แต่ สทศ.จะต้องมีคณะกรรมการเพื่อมาวิเคราะห์ข้อสอบดังกล่าว หากได้มาตรฐานก็ให้ซื้อมาเก็บไว้ในคลังข้อสอบ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งหากทำได้เช่นนี้จะเป็นคลังข้อสอบที่สุดยอดของโลก โดยแนวทางดังกล่าวมหาวิทยาเคมบริดจ์ก็ได้ทำมานานแล้วเช่นกัน ส่วนการนำข้อสอบอัตนัยมาใช้ในการสอบโอเน็ตนั้น จะเริ่มใช้กับวิชาภาษาไทย ของเด็กในระดับชั้น ป.6 ในปีการศึกษา 2559 ก่อน ซึ่งจะสอบในเดือน ก.พ.2560 แต่จะยังไม่นำมาใช้กับข้อสอบโอเน็ต ม.6 เพราะการสอบของเด็ก ม.6 มีการเดิมพันสูง หากให้สอบในเร็วๆ นี้จะไม่ยุติธรรม อีกทั้งไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าให้เด็กทราบด้วย ดังนั้นการสอบอัตนัยสำหรับเด็ก ม.6 จึงเป็นเรื่องของอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น