นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR ) เรียกร้องให้ไทยตรวจสอบปัญหาบุคคลสูญหาย 82 ราย ซึ่งรวมถึงนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยง ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการบังคับคนให้สูญหาย โดยได้มีการติดตามเรื่อง และประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงโอเอชซีเอชอาร์อย่างต่อเนื่องในการให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับคดีทั้ง 82 คดีนั้นเป็นสิ่งที่สะสมมาตลอด 35 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นในหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้ ส่วนประเด็นที่โอเอชซีเอชอาร์ได้วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลฎีกาในคดีนายสมชายนั้น ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยศาลทั้ง 3 ศาลได้พิจารณาตามหลักฐานและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งฝ่ายบริหารก็เคารพคำวินิจฉัย และไม่อาจก้าวล่วงความเป็นอิสระของศาลได้ ขณะที่กรณีของนายพอละจี หรือบิลลี่นั้น ทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ
นายเสข กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องไม่ให้มีการบังคับคนให้สูญหายนั้น รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายภายในของไทย เพื่อรองรับพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าวตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จแล้วก็จะนำไปสู่การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป
นายเสข กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเรียกร้องให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องไม่ให้มีการบังคับคนให้สูญหายนั้น รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายภายในของไทย เพื่อรองรับพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าวตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จแล้วก็จะนำไปสู่การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป