xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เดินหน้าขึ้นทะเบียนแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกของชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลัง เปิดสัมมนา "แม่น้ำเจ้าพระยา...คุณค่าสู่การส่งเสริมให้เป็นมรดกของชาติ" ว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักผังเมืองได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้แม่น้ำ เจ้าพระยาเป็นมรดกของชาติ โดยจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งแรก และกลุ่มย่อย รวม 7 ครั้ง เสนอแนวทางอนุรักษ์พัฒนาในการสัมมนา ครั้งสุดท้ายได้ผลสรุปการศึกษา และรายละเอียดแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณดังกล่าว ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการขึ้นทะเบียนมรดกของชาติ และ เข้าสู่การขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก
ทั้งนี้ พื้นที่อนุรักษ์สองฝั่งแม่น้ำเจ้ำพระยา มีคุณสมบัติโดดเด่น ตามเกณฑ์ ประกอบด้วย ชุมชนหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม ที่อาศัยตั้งถิ่นฐาน ดำรงรักษาวัฒนธรรมสืบมา ปรากฏมีงานสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ประกอบด้วยวัดและวัง เช่น พระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ชุมชนและย่านเก่าแก่ เช่น ตลาดน้อย บางลำพู, ชุมชนกุฎีจีน และชุมชนท่าเตียน โบราณสถาน และอาคารประวัติศาสตร์ เช่น บ้านหวั่งหลี ตึกโดม มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โรงแรมโอเรียนเต็ล ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ตลาดน้อย และอาสนวิหารอัสสัมชัญ มีการสืบทอดแนวคิดการวาง ผังเมืองของไทยแต่อดีตที่จากสมัยอยุธยาวิวัฒนาการจากชุมชนเล็กๆ เป็นเมือง และได้เป็นที่ตั้งของนครหลวงแห่งใหม่ มีพัฒนาการหลายด้าน รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เช่น ประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และนิราศเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่
สำหรับแนวทางอนุรักษ์พัฒนามีแนวคิดที่จะส่งเสริม และพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ทรงคุณค่าความเป็นมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่สะพานกรุงธน (สะพานซังฮี้) เรื่อยมาจนถึงแนวสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินรวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร แบ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.ด้านแม่น้ำลำคลอง 2.ด้านอาคารและสิ่งก่อสร้าง 3.ด้านชุมชน และ4.ด้านนามธรรม โดยแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนามาจากข้อคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป้าหมายหลัก คือ การธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมแม่น้ำเจ้าพระยาให้คงอยู่เป็นมรดกของคนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งสามารถสรุปเป็นแนวคิดภาพรวมในการอนุรักษ์ พัฒนา ปรับปรุง และฟื้นฟูพื้นที่มรดกวัฒนธรรมแม่น้ำเจ้าพระยาครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม 2.ลดทอนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อแหล่ง มรดกฯ ทั้งในด้าน สิ่งก่อสร้างทางกายภาพ และด้านการจัดการ 3.ความเข้มของการอนุรักษ์ที่เหมาะสมสอดคล้อง แหล่งมรดกฯ แต่ละประเภท 4.เน้นให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ของชุมชนและสาธารณะในการหวงแหนแหล่งมรดกฯ และให้ความร่วมมือในการรักษาให้คงอยู่ ในสภาพที่ดีต่อไป และ 5.กทม. เป็นหน่วยงาน หลักประสานกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้-เสีย ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเห็นผลเป็น รูปธรรม ซึ่งหลังจากได้ผลสรุปแนวทางแล้ว กทม.จะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ให้ขึ้นทะเบียน มรดกของชาติ และนำไปสู่การขึ้นบัญชี มรดกโลกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น