xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งจังหวัดเสี่ยงเตรียมป้องกัน-แก้ปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว-อาคารถล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.6 ตามมาตราริกเตอร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม และขนาด 4.5 ตามมาตราริกเตอร์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในทะเลบริเวณอำเภอเกาะยาว จ.พังงา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.พังงา ภูเก็ต และกระบี่ รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่มีรายงานควาเสียหาย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม มุ่งเน้นการเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง
ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีความมั่นคงแข็งแรง และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ การเชื่อมโยงระบบการแจ้งเตือนภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเตรียมอุปกรณ์เครื่องจักรกล ยานพาหนะ ระบบสื่อสารหลัก-รอง ให้พร้อมใช้งาน การประเมินความเสี่ยงภัยและความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างจากเหตุแผ่นดินไหว รวมถึงเตรียมพร้อมในการอพยพประชาชนและจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับ โดยให้ยึดการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม รวมถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ การเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวและอาคารถล่มมีประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) ได้ประสานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว โดยบูรณาการการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวโดยเฉพาะอาคารและสิ่งปลูกสร้าง วางระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์และการปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงระบบสื่อสารกลางสำหรับการประสานงานและการสั่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ภัยและลดความตื่นตระหนก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินของภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น