xs
xsm
sm
md
lg

"ถวิล"ให้ปากคำ ป.ป.ช.ในฐานะพยานคดีสลายม็อบ นปช.ปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (28 เม.ย.) นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางเข้าให้ถ้อยคำต่อองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะพยานของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาสั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

นายถวิล เปิดเผยก่อนเข้าให้ถ้อยคำว่า ป.ป.ช.น่าจะมีการสอบถามถึงการควบคุมสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะมีการตั้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่ามีการใช้กำลังจนทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต ตนจะชี้แจงว่าเราได้ควบคุมสถานการณ์ในช่วงนั้นอย่างไร การชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ขณะเดียวกัน มีกลุ่มที่ใช้อาวุธ หรือกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธกระทำต่อสถานที่ และเจ้าหน้าที่ในหลายเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 53 ที่กลุ่มชายชุดดำได้ปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งก่อเหตุทั้งในและนอกพื้นที่ชุมนุม อาทิ บริเวณแยกราชประสงค์ ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจจุดสกัด 4 จุดรอบพื้นที่ชุมนุม ในมาตรการที่เรียกว่ากระชับวงล้อมและกระชับพื้นที่ และได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีการจู่โจมเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจรอบพื้นที่ชุมนุมโดยชายชุดดำจึงทำให้เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น

เรื่องการสลายการชุมนุมนั้น ในช่วงการควบคุมสถานการณ์ช่วงเมษายน-พฤศจิกายน 53 รวมทั้งเหตุการณ์ความวุ่นวายในการล้มประชุมอาเซียน ซัมมิต ที่พัทยา ในปี 52 นั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้กำลังสลายการชุมนุม เพราะในปี 52 ไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเลย ส่วนในปี 53 ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 53 จนถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุม ที่ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการเล่นคำ หรือหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะไม่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกผู้ชุมนุมเรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมมี 2 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 53 บริเวณแยกคอกวัว ซึ่งเป็นการขอคืนพื้นที่ ส่วนอีกเหตุการณ์ในช่วง 11-19 พฤษภาคมนั้น ก็ไม่ได้เป็นการใช้กำลังสลายชุมนุม แต่เป็นการกระชับวงล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุม แม้แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม ที่มีการยุติสถานการณ์โดยแกนนำประกาศยุติการชุมนุมเอง หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์จลาจลมีการเผาสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ รวม 37 จุด และเผาศาลากลางจังหวัดอีก 4 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ยุติสถานการณ์เพียงแค่นั้น ไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม

ส่วนที่มีการระบุว่าพบการใช้กระสุนจริงในพื้นที่แยกราชประสงค์นั้น นายถวิล กล่าวว่า หลังจากการชุมนุมยุติลง ในวันที่ 20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ชุมนุม ซึ่งพบอาวุธในพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ สวนลุมพินี รวมทั้งในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นอาวุธสงครามทั้ง M79 ลูกระเบิดเพลิง ระเบิดขว้าง ส่วนอาวุธที่พบไม่ใช่อาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ใช่หรือไม่นั้น นายถวิล กล่าวว่า ไม่แน่ เพราะก่อนหน้านั้นวันที่ 10 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้รับการกำชับว่าให้ใช้กระบองและโล่ ห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมเป็นอันขาด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน มีความสูญเสียเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทหาร อาทิ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และยังมีประชาชนสูญเสียอีกรวม 26 คน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงรู้ว่ามีการใช้อาวุธจากผู้ชุมนุม และในวันดังกล่าวก็เป็นครั้งแรกที่มีการปรากฏตัวของชายชุดดำ จนมีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธซึ่งก็ต้องใช้ให้เป็นไปตามกฎ 7 ขั้นตอน

นอกจากนี้ กรณีที่ศาลอาญาเคยมีคำวินิจฉัยสาเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ชุมนุมว่าเกิดจากการใช้อาวุธนั้น นายถวิล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการพิสูจน์การตาย ซึ่งมีหลายกรณี เช่นกรณีนายพัน คำกอง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะอธิบดีในขณะนั้น มีการพิสูจน์การเสียชีวิตตามที่ศาลมีคำวินิจฉัย และได้มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ว่าทำให้มีผู้เสียชีวิต มีคนสั่งถึงมีคนตาย แต่ใครทำให้ตายนั้นมีรู้ ข้ามช่วงกลางไป แล้วเอาเพียงช่วงปลายว่ามีคนตาย จึงได้ตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้ง 2 ว่าฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลอาญาก็ได้ยกฟ้องไปแล้ว โดยระบุว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.
กำลังโหลดความคิดเห็น