xs
xsm
sm
md
lg

สนช.เริ่มพิจารณาถอดถอน 38 อดีต ส.ว.คาดลงมติ 13 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ในวันนี้ (25 ก.พ.) เริ่มต้นกระบวนการถอดถอดอดีตสมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยวันนี้เป็นการแถลงเปิดสำนวนเพื่อให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ซึ่งฝ่าย ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้อง ได้ให้นายวิชัย วิวิตเสวี คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้แถลงเปิดสำนวน โดยระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ ป.ป.ช.ยังมีอำนาจในการชี้มูลความผิดผู้ที่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของ ป.ป.ช. และกรณีการถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา 38 คน จะนำเอากรณีของนายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ มาเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะถือว่ามีฐานความผิดต่างกัน โดยการกระทำของอดีต ส.ว.เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยมีความผิดแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ ร่วมลงชื่อ ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทั้งร่วมลงชื่อและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ส่งตัวแทนเข้าชี้แจงโต้คำแถลงเปิดสำนวน จำนวน 5 คน คือ นายวิทยา อินาลา นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายกฤช อาทิตย์แก้ว และนายดิเรก ถึงฝั่ง โดยนายดิเรก เป็นผู้สรุปชี้แจงข้อโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนทั้งหมด ซึ่งจะเน้นพูดตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. โดยยืนยันว่า ทุกอย่างดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงมติถอดถอนหรือไม่ จะมีขึ้นในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ซึ่งหากที่ประชุม สนช.มีมติถอดถอนอดีต ส.ว.38 คน จะส่งผลให้อดีต ส.ว.ที่ถูกกล่าวหา และปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช.และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องพ้นจากตำแหน่งตามระเบียบข้อบังคับทันที และอดีต ส.ว.ที่เป็นสมาชิก สปช. คือนายดิเรก ถึงฝั่ง และ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น