xs
xsm
sm
md
lg

คืนความสุขให้คนในชาติ 6 ธันวาคม 2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่รักทุกคน เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นี้ นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 87 พรรษา รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และร่วมถวายพระพรชัยมงคล

ซึ่งนับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาตราบจนทุกวันนี้ ได้ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกร ทรงเป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมแห่งความสามัคคีของพสกนิกรปวงชนชาวไทยทุกคน

สำหรับในปีนี้รัฐบาลได้จัดให้มีกิจกรรมที่สำคัญ มีทั้งหมด 9 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมถวายพระพร ณ สวนแห่งความจงรักภักดี กลางสนามหลวง กิจกรรมนิทรรศการมัลติมีเดีย หัวข้อ "อเนกประการงานของพ่อ" พระราชกรณียกิจหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 ด้าน คือ ความมั่นคง คุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมนิทรรศการมีชีวิต จากหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ รวมทั้งหมด 25 หน่วยงาน "ปณิธานสืบสานต่อ อนันต์ค่า" กิจกรรมการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม "เทิดราชันเกริกฟ้าก้องสกล" กิจกรรมการแสดงและพิธีการต่างๆ บนเวทีเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมเส้นทางเสน่ห์วัฒนธรรม และอาหารอร่อย กรุงเทพมหานคร มีการแสดงพื้นบ้าน การสืบสานงานของพ่อทางด้านวัฒนธรรม และจำหน่ายอาหารของดีจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ และจาก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร กิจกรรมการมีส่วนร่วมเส้นทางตามรอยรักพ่อ โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้รับหนังสือเดินทางเพื่อไปเยี่ยมชมจุดต่างๆ เมื่อประทับตราครบ จะได้รับเสื้อ "รักพ่อ" เป็นที่ระลึก กิจกรรมการแสดงผลสำเร็จจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และกิจกรรมบนเวทีย่อยต่างๆ ทั่วประเทศ ในการนี้ ผมขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองตลอดเดือนธันวาคม เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนั้นแล้ว กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักราชเลขาธิการ ได้จัดทำแอปพลิเคชัน "สุขพอที่พ่อสอน" โดยอัญเชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ได้คัดตัดตอนออกเป็น 9 หมวดหมู่ คือ การศึกษา ความยุติธรรม รู้รักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ของส่วนรวม การพัฒนา ความพอเพียง คุณธรรมจริยธรรม ความสุข และความปรารถนาดี นำมาพัฒนาในรูปแบบดิจิตอล รองรับอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ด้วย

ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันเผยแพร่ ใช้บริการเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำคำสอนไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเกิดความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืน และขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันทำความดีเพื่อพ่อหลวงของเรา ทุกคนทำได้ง่ายๆ ตั้งใจทำให้สำเร็จก็แล้วกัน อย่างน้อยก็แก้ไขที่ตัวเองก่อน แล้วสังคมก็จะดีตามไปด้วย

ในเรื่องการเดินทางไปเยือนต่างประเทศและการหารือระดับผู้นำประเทศของผมนั้น ที่ผ่านมาเป็นการติดตามความก้าวหน้า สานต่อความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนั้นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างกัน ได้เร่งผลักดันผลการพูดคุยในเวทีต่างๆ ทั้งอาเซม เอเปก อาเซียน ให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

การเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมานั้น สาระสำคัญก็มีเรื่อง เราจะส่งเสริมความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ครอบคลุมการบริหารจัดการค่าผ่านแดน การศุลกากร การให้เงินกู้ยืมการสร้างสะพานแห่งที่ 5 บึงกาฬ - ปากซัน และพร้อมพิจารณาโครงการสะพานแห่งที่ 6 อุบลราชธานี-แขวงสาละหวัน ตอนนี้ก็ออกแบบอยู่ ในเรื่องการสร้างถนนภายในประเทศและบริเวณแนวชายแดน เพื่อจะเพิ่มมิติการค้าการลงทุน เพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร รวมทั้งการย้ำถึงความสำคัญในการจัดตั้งและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทย และการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายหนองคายด้วย

ในการพบปะภาคเอกชนไทย-ลาว ทราบว่ามีปริมาณและมูลค่าการค้าเริ่มขยายตัวสูงในห้วงนี้ เดิมเราเปิดเขตเศรษฐกิจด้านมุกดาหารอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีการเปิดเพิ่มเติมที่หนองคายอีกแห่งหนึ่ง ที่เราทราบมาจากการพูดคุยก็คือ คนลาวนั้นชอบใช้สินค้า ชอบอาหารการกินไทย เพราะมีคุณภาพดี อร่อย เรามีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว

ในเรื่องของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวนั้น จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ ให้บริการนักท่องเที่ยว การตรวจเข้าเมือง การขอวีซ่า การใช้บัตรสมาร์ทการ์ด รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งสองประเทศในลักษณะ Joint Package รวมทั้งการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ลาว ในปีหน้า

ในส่วนของวัฒนธรรมนั้น เรามีความคล้ายคลึงกันทั้งภาษา วัฒนธรรมหลายๆ อย่าง เพลงก็เหมือนๆ กัน คล้ายกัน บางครั้งเป็นเพลงเดียวกันเลย ทำนองเดียวกัน ก็มีเนื้อร้องที่ต่างกันเท่านั้นเอง

ในเรื่องความร่วมมือในด้านการศึกษา เราจะพัฒนาด้านการศึกษาร่วมกัน ร่วมมือกันในเรื่องของตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นไทยเราก็ต้องร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน มิตรประเทศต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งไทยเราก็เป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว เพื่อจะสร้างความเข้มแข็ง ถ้าไทยเข้มแข็ง ลาวเข้มแข็ง เพื่อนบ้านเข้มแข็ง อาเซียนก็จะเข้มแข็ง ต้องมองในภาพรวมนะ

สำหรับการเดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในวันที่ 27 พฤศจิกายนนั้น ก็ได้มีโอกาสเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ท่านได้กล่าวว่าขอฝากถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้ ด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม อยู่ในระดับที่ดีมาก มีความใกล้ชิดมากขึ้น ไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับเวียดนามอย่างจริงจังในการสร้างความมั่งคั่งและมั่นคง และการพัฒนาทั้งสองประเทศ เพื่อไปสู่การพัฒนาของภูมิภาคโดยรวม ในปี 2559 ทั้งสองประเทศ เราและเวียดนาม จะฉลองครบรอบ 40 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

ในการพูดคุยครั้งนี้ ได้พูดถึงความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงนามแผนปฏิบัติการความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ปี 2014 – 2018 ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียน และนักธุรกิจไทยยังประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจที่เวียดนาม รัฐบาลเวียดนามพร้อมที่จะสนับสนุนภาคเอกชนไทยต่อไป ก็ขอให้ภาคเอกชนไปหาข้อมูลต่างๆ แล้วรัฐบาลก็จะช่วยสนับสนุนด้วย

ในด้านการค้า เราตั้งเป้าหมายการค้าร่วมกันให้มีมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2560 ทั้งสองฝ่ายพร้อมเดินทางที่จะเยี่ยมเยือนเข้าหากันในทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขยายการค้า ใช้ประโยชน์ในการอำนวยความสะดวก และผลักดันให้มีการส่งออก การนำเข้าสินค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทางด้านการเกษตร และอื่นๆ ซึ่งสองฝ่ายมีความร่วมมือระหว่างกัน เช่น ข้าว ยางพารา และอื่นๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายพิจารณาจัดตั้งกลไก คณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองด้านการลงทุนระหว่างกัน เพื่อใช้ความตกลงนั้นให้สามารถดำเนินการรลงทุนให้ได้อย่างมั่นใจและมั่นคง เช่น ความตกลงคุ้มครองการลงทุน และอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมให้ธนาคารไทยไปเปิดสาขาในเวียดนามให้มากขึ้น

ในด้านการเชื่อมโยง เราสองฝ่ายเห็นพ้องว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้การรวมกลุ่มของอนุภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยให้ความสำคัญในการเชื่อมประโยชน์เส้นทาง R8 R9 และ R12 เพื่อจะเชื่อมต่อไทย–ลาว–เวียดนาม โดยฝ่ายไทยขอเสนอให้มีการเปิดบริการรถโดยสารในเส้นทางระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กับภาคกลางของเวียดนาม ในปีหน้า คือ 58 นี้ให้ได้ เพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และเพิ่มการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน และสนับสนุนให้สายการบินต้นทุนต่ำของไทยได้ร่วมมือเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ กับธุรกิจสายการบินของเวียดนามเอง และเพื่อจะช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและนักธุรกิจของทั้งสองประเทศให้ได้ ผมได้เสนอให้มีการพัฒนาการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล เพื่อการท่องเที่ยว หรือการขนส่งสินค้าในปีหน้านี้ด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ เวียดนามพร้อมที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก และเหนือ-ใต้ รวมทั้งความร่วมมือในมิติอื่นๆ ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว กีฬา รวมทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคง และไทยพร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุนเวียดนาม เวียดนามก็พร้อมจะสนับสนุนไทยในทุกเวที ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำหรับการเดินทางมาเยือนเวียดนามในครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย – เวียดนาม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรา กับนครเกิ่นเทอ

สำหรับปัญหาเรือประมง 2 ประเทศ เรื่องการรุกล้ำน่านน้ำ ก็จะได้เจรจาประนีประนอม หรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผ่อนผันกัน ว่าจะทำอย่างไรให้มีผลในทางด้านการต่างตอบแทน ให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน

สำหรับการเยือนสหพันธรัฐมาเลเซียในวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ผมได้มีโอกาสหารือทวิภาคีเต็มคณะกับท่านนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย รวมทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้ เพื่อย้ำความสำคัญและกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในฐานะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง เราตกลงกันว่าจะให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างทุกภาคส่วนของทั้งสองประเทศ ทุกระดับ การส่งเสริมความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน การสนับสนุนการทำหน้าที่ของมาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน และเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2558

ในด้านความมั่นคง ผมได้แสดงเจตนาและยืนยันว่าพร้อมที่จะเดินหน้าสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และรับประสานกับกลุ่มที่เห็นต่างให้เข้ามาสู่กระบวนการ ทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซียก็ให้เกียรติในเรื่องนี้ ก็ยินดีทุกเรื่อง ทุกประการ เป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายไทย ก็รับว่าจะนำปัญหาต่างๆ เหล่านั้นไปหาทางเพื่อจะนำผู้ที่มาพูดคุยสันติสุขกับเราเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ในขณะนี้เราได้จัดคณะทำงานเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย ระดับขับเคลื่อน ระดับปฏิบัติการ ซึ่งมีรายละเอียดมากพอสมควร ทั้งนี้ เพื่อจะให้กระบวนการพูดคุยเป็นไปตามหลักสากล และให้กระบวนนั้นมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง เราคงเร่งด่วนไม่ได้ในเรื่องนี้ มันต้องมีการพูดคุยหารือในหลายๆ ครั้ง หลายกลุ่มด้วยกัน ก็ขอให้ทุกคนได้ติดตามต่อไป

ในด้านเศรษฐกิจนั้น ไทยกับมาเลเซียให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งทางรถและทางราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ ไทยได้เร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา-ปาดังเบซาร์ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ และได้เชิญชวนนักลงทุนมาเลเซียเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น เราก็จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในมาเลเซียให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในการประชุมเห็นพ้องกันในการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าให้เพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้านบาท ในปี 2556 ให้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาท ในปี 2558 ก็คงต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) พิจารณาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างประเทศด้วย

สำหรับโครงการ Rubber City เราก็มีทำที่ฝั่งเรา คือจัดที่ จ.สงขลา ฝั่งมาเลเซียที่รัฐเกดะห์ ทั้งนี้ ไทยและมาเลเซียได้ร่วมกันผลักดันในการจัดตั้ง Rubber City บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ของเราก็ที่บ้านฉลุง อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ของมาเลเซียก็เป็นฝั่งตรงข้าม หรือแล้วแต่ที่เขาจะพิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมการจ้างงาน นอกจากนี้ เราก็จะมาดูว่าเราจะควบคุมราคายางได้อย่างไร เพื่อจะเพิ่มราคาให้สูงขึ้น ทั้งนี้ เป็นห่วงพี่น้องที่ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องยาง ราคายังตกต่ำอยู่ก็ต้องหาทาง เพราะทุกประเทศก็เหมือนกันในขณะนี้

วันนี้เราทั้งสองประเทศกับมาเลเซียนั้น มีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันให้มีความแข็งแกรงขึ้น หลากหลาย ในลักษณะเป็นแพคเกจ มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และให้สอดคล้องกับนโยบายของทั้งสองประเทศ และปีหน้าไทยกำหนดไว้ว่าเป็นเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยด้วย ถ้าต่อเนื่องเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ก็จะเป็นการดี

ในเรื่องของการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในปัจจุบันนั้น เราก็ได้มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และมีการพัฒนาเพื่ออนาคตไว้ด้วย เช่น การกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐ และลดการทุจริต

ที่ผ่านมา เมื่อเอกชนที่ต้องการขอใบอนุญาตจากรัฐ ต้องมีขั้นตอนมากมาย ล่าช้า กระบวนการเอกสารจุกจิก หากพิจารณาไม่ถี่ถ้วนก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ แต่ต้องเร็วกว่านั้น เพราะทำให้เสียสิทธิของทุกคนที่มาติดต่อราชการ หรือลงทุนค้าขาย แล้วก็ทำให้ข้าราชการบางส่วนนั้นทุจริต ฉกฉวยผลประโยชน์จากจุดต่างๆ เหล่านี้ เรียกค่าตอบแทนบ้าง อะไรบ้าง เราต้องอำนวยความสะดวกให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใส ไม่อยากให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ และเราต้องเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อราชการให้มากขึ้น ปิดช่องทางฉ้อฉลต่างๆ ให้ได้

วันนี้รัฐบาลได้ริเริ่ม และร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ได้กําหนดให้รัฐมนตรีสามารถออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาต จะเป็นหน่วยงานใหม่ในการเป็นตัวกลางระหว่างประชาชน ผู้ขออนุญาต กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตในเรื่องต่างๆ จะออกแบบให้เป็นหน่วยที่อํานวยความสะดวกให้เร็วยิ่งขึ้น ให้เกิดประโยชน์กับทุกส่วนนะครับ

ในการขออนุญาตนั้น เราจะมีหน้าที่ในการรับคําขออนุญาตและค่าธรรมเนียม ให้ข้อมูล และให้แนะนําเกี่ยวกับหลักการ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการอนุญาต ประชาชนสามารถยื่นคําขอ ส่งเอกสารหลักฐาน ค่าธรรมเนียม ณ ศูนย์รับคําขออนุญาตได้เลย แทนหน่วยงานผู้อนุญาตได้ ศูนย์รับคำขออนุญาตนี้จะใช้รับเรื่องแทนหน่วยงานรัฐได้ทุกประเภท ในลักษณะ One Stop Service ยกเว้นหน่วยงานของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี การพิจารณาของศาล การดำเนินคดีทางอาญา และการขออนุญาตตามกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ อันนี้ต้องยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อันนี้เป็นของเดิม แต่ต้องเร็วขึ้น แต่ของใหม่นี่ต้องดำเนินการให้ได้

ที่สำคัญ เราจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอ ที่จะต้องเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ แล้วจะต้องตรวจสอบความถูกต้องได้โดยเร็ว พิจารณาคำขอความครบถ้วนที่ต้องยื่นพร้อมกัน ถ้าไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ต้องให้คำแนะนำ ให้เขาไปแก้ไข ไม่ใช่ดึงเวลาไว้นานเกินไป ก็ต้องชี้แจงให้เขาทราบโดยทันทีภายในไม่เกิน 7 วัน และบันทึกการแจ้งดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการล่าช้า โดยการอ้างเหตุว่าเอกสารไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน มันสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ

สำหรับร่างแก้ไขนี้ยังกำหนดไว้ด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำขอเพราะอ้างเรื่องเอกสารไม่ถูกต้อง ก็อาจถูกดำเนินการทางวินัย เจ้าหน้าที่ก็ต้องระมัดระวัง ขอให้มีหัวใจในการบริการหน่อยก็แล้วกัน

ในเรื่องของการจัดมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน อำนวยความสะดวกในการอนุญาตทำงานให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2552

สำหรับการออกใบอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่เราจะจัดตั้งขึ้น (Regional Operating Headquarter : ROH) เดิมได้กำหนดไว้ว่าจำนวนการออกใบอนุญาตทำงานไว้ไม่เกิน 5 คน วันนี้เราจะแก้ไขให้สามารถเพิ่มได้เป็น 10 คน และสามารถขอเพิ่มจำนวนได้ตามความเหมาะสมกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่

หากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคชำระภาษีเงินได้ให้แก่รัฐในรอบปีที่ผ่านมาตามเกณฑ์ที่กำหนด เราก็จะพิจารณาดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนั้น เร่งรัดการออกใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 วันทำการ พร้อมทั้งเปิดช่องทางการแจ้งเข้ามาทำงานอันจำเป็นเร่งด่วนระยะเวลาไม่เกิน 5 วัน ทางโทรสาร ซึ่งจะเป็นการแจ้งผ่านด่านตรวจหางานสุวรรณภูมิ ด่านตรวจคนหางานดอนเมือง และทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับมาตรการตามนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนนั้น จากที่รัฐบาลได้เร่งให้ดำเนินการในเชิงรุก และบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ วันนี้ก็มีความสำเร็จได้ด้วยดี ได้มีการขยายขอบเตการบริการ และมีการพัฒนาให้ดีขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก อาทิเช่น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ หรือคอลเซ็นเตอร์ 1567 ที่ต่างจังหวัด สำหรับการรับเรื่องร้องทุกข์ ความเดือดร้อน ร้องเรียนหน่วยงานรัฐ เอกชน เจ้าหน้าที่ ขอความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรม ปัญหาหนี้สินนอกระบบ การแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด รวมทั้งการแสดงความเห็นปฏิรูปด้วย รับมาทั้งหมด

ในศูนย์ที่ 2 คือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ณ ทำเนียบรัฐบาล นี่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงมารับคำร้องและให้คำปรึกษา ติดต่อที่คอลเซ็นเตอร์ 1111

การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาติดต่อในเรื่องของการทะเบียน ถ้าหน่วยงานนั้นมีระบบเชื่อมโยงกับระบบทะเบียนของกรมการปกครองแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้คัดสำเนารายการทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชนจากฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ได้เลย โดยไม่ต้องลงชื่อรับรองเอกสารก็ได้ หรือหากหน่วยงานนั้นยังไม่มีระบบเชื่อมโยง ก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการถ่ายเอกสา รสำเนาทะเบียนบ้าน หรือถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มาติดต่อราชการ เพราะฉะนั้นขอให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมด้วย ให้การบริการประชาชนให้รวดเร็ว

ในเรื่องของคลินิกกฎหมายสัญชาติ เราก็จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจะขับเคลื่อน ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านการกำหนดสิทธิและสถานะตามที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันยังมีคนไทยที่ด้อยโอกาสจำนวนมากพอสมควรที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวตนได้ ทำให้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เราก็จะให้เป็นจุดรับคำร้อง ให้คำปรึกษา และดำเนินการแก้ไขให้แก่ประชาชน รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงให้กับสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และจะมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสัญชาติให้แก่ประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ที่กรมการปกครอง วังไชยา ถ.นครสวรรค์ ถ้าต่างจังหวัด ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง หรือคอลเซ็นเตอร์ 1548

ในเรื่องของศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ปัจจุบันเรากำลังขยายการจดทะเบียนสัญชาติเวียดนามเพิ่ม เดิมมี 3 ประเทศ คือ ลาว พม่า กัมพูชา วันนี้ก็ต้องเพิ่มเติม

การดำเนินการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องมีข้อมูล หรือฐานข้อมูลที่ทุกกระทรวงจะต้องสามารถเข้าถึง และนำไปบริหารงาน จัดสรรรูปแบบการให้บริการอย่างเหมาะสมได้ในอนาคต ทั้งนี้ ต้องอาศัยความประสานสอดคล้องในการทำงานของหน่วยงานของรัฐ พื้นฐานข้อมูลต้องอันเดียวกัน จะทำอะไรก็ตามถ้าพื้นฐานไม่ตรงกัน มันคนละข้อมูล มันทำอะไรไม่ได้ บูรณาการกันไม่ได้ ทุกหน่วยผมได้สั่งไปแล้วให้แก้ไขในเรื่องนี้

ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐนั้น การสร้างชุมชนต้นแบบ อารยสถาปัตย์ โดยการยกระดับเกาะเกร็ด หรือที่เรียกว่าเกาะเจดีย์เอียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวปัจจุบันที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี เรามีเป้าหมายในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้พิการ หรือผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตและการเดินทาง อันนี้หมายรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ตำรวจ ทหารผ่านศึก เด็กเล็ก และสตรีมีครรภ์ สามารถเดินทางออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้โดยสะดวก ปลอดภัย มั่นใจ สามารถมีชีวิตที่อิสระ ไปไหนมาได้ด้วยตนเอง เต็มตามศักยภาพ จะได้ไม่เป็นภาระของคนรอบข้าง หรือของสังคมอีกต่อไป ได้ภูมิใจตัวเองว่าทุกคนก็มีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ผมได้สั่งการไปแล้วใน ครม.ด้วยว่า ทุกโครงการของรัฐต้องคำนึงถึงการเข้าถึงการบริการของรัฐ อันนี้มันเป็นสิทธิพื้นฐาน และเครื่องหมายแสดงความเท่าเทียมทางสังคม ต้องดูแลให้ครบ อาทิเช่น การบริการระบบขนส่งมวลชน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ห้องน้ำสาธารณะ จะต้องจัดให้มีทางลาด ต้องไม่ลาดชันเกินไป ทุกกลุ่มเป้าหมายต้องสามารถเข็นรถเข็นขึ้น-ลงเองได้ ไม่อันตราย หวาดเสียว ทางลาดต้องให้สามารถเชื่อมโยงไปได้ทั่วทุกจุดของสถานที่ และหากสถานที่ใดมีบันได ก็ต้องมีทางลาดควบคู่ไปด้วย ก็ค่อยๆ ทำไป ถ้าทำได้เร็วมันก็ดี พี่น้องที่ลำบาก พิการ เขาจะได้ไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางลาดนั้นก็ต้องมีขอบด้วย กันตก ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวก็ไหลตกลงมาอีก ราวจับด้วย จำเป็นมากสำหรับผู้สูงอายุ หรือคนท้อง หรือสุขภาพไม่แข็งแรง ทางลาดก็ต้องไม่ลื่น ไม่แคบเกินไป

สำหรับโครงการชุมชนต้นแบบเกาะเกร็ดนี้กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรคนพิการ และเทศบาลนครปากเกร็ด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่สำรวจชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมปรับแบบแปลนโครงการ และมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ณ เกาะเกร็ด นนทบุรี

ในเรื่องของการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา วันนี้ในระยะเร่งด่วนได้กำหนดแนวทางหลักไว้ 3 ประการ คือ 1. การจัดการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ เราต้องแสดงให้ทั่วโลก สังคมโลก เห็นถึงความมุ่งมั่น จริงใจ ในการป้องกันและการปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ 2. การจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันการปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ เป็นการขับเคลื่อนศูนย์แบบวอร์รูม มีรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีผู้แทนจากหน่วยราชการ ประกอบกำลังร่วมกัน ในลักษณะเป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่รวดเร็ว รอบด้าน มีเอกภาพ และมีพลังในการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

3. การกำหนดมาตรการเร่งรัด แก้ไขจุดอ่อนใน 3 ประเด็น คือ (1) เรื่องของการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว การดำเนินการทางกฎหมาย ต้องขยายผลให้สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดรายใหญ่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้อย่างรวดเร็ว และในเรื่องของการดำเนินการ มาตรฐาน จัดระเบียบเรือประมง ต้องจัดระเบียบให้ได้ จดทะเบียนทุกลำ และแรงานประมงด้วย จะต้องเชื่อมโยง ในเรื่องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ก็แล้วกัน โดยประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ จัดระเบียบแรงงาน จดทะเบียนเรือ บุคคลเรือ บนเรือทั้งหมด และการดำเนินมาตรการ การควบคุม คัดแยกผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างรอบคอบ ก็ต้องหาพื้นที่ควบคุม ในระหว่างที่รอการดำเนินคดีให้มีมาตรฐาน ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่างในการที่จะไม่ให้เกิดปัญหาในการที่จะเป็นผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายเพื่อขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์นั้น ปัจจุบันทางกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาได้ออกรายงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กของประเทศต่างๆ รวมทั้งเผยรายชื่อประเทศและสินค้าที่มีเหตุให้เชื่อว่ายังมีการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้อง ในนั้นมีประเทศเราอยู่ด้วย เราต้องช่วยกัน เพราะเราเป็นประเทศที่ได้รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ว่าด้วยการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อปี 2544 ผู้ประกอบการต้องร่วมมือ ท่านสงสารเด็กเถอะ อย่าเอาแต่ประโยชน์อย่างเดียวเลย แล้วทำให้มาตรการการค้าการลงทุนต่างๆ มีปัญหา ท่านได้คนเดียว บริษัทเดียว หรือกิจการเดียว แต่คนอื่นเขาเสียหายหมดทั้งประเทศไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องไปเข้มงวด ไปตรวจตราแล้วดำเนินคดีให้ได้ รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้ ที่เราถูกปรับลดความเชื่อมั่นอะไรต่างๆ ก็มาจากเรื่องเหล่านี้ทั้งนั้น เรื่องเรือประมงบ้าง ใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็จะต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ทางกฎหมาย แล้วอะไรที่มันเอื้อให้มีการเลี่ยงกฎหมายได้ก็ต้องแก้ไข มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัญหา เราจะยกมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้าง แรงงานเกษตรกรรม และการประมง รวมทั้งการป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ ออกกฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม สาระสำคัญ คือ กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้างเข้าทำงานในงานเกษตรกรรม ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจัดเวลาพักให้ลูกจ้างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง อันนี้ลูกจ้างก็ต้องทราบ นายจ้างก็ต้องปฏิบัติ และห้ามเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างเด็ก ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานอันตราย เช่น งานที่ต้องใช้เลื่อยไฟฟ้า งานปั๊มโลหะ อันตรายกับเด็ก นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีสวัสดิการ ได้แก่ มีน้ำดื่มที่สะอาด ที่พักอาศัยสะอาด ถูกสุขลักษณะ เหล่านี้เป็นต้น

2. ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล มีสาระสำคัญ คือ บังคับใช้กับเรือประมงทะเลที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป รวมทั้งเรือประมงทะเลที่อยู่นอกราชอาณาจักร กำหนดอายุขั้นต่ำที่นายจ้างจะจ้างทำงานประมงทะเลได้ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี กรณีลูกจ้างตกค้างต่างประเทศเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น อันนี้ก็จะดูแลทั้งนายจ้างลูกจ้างให้เกิดความเป็นธรรม

ในเรื่องของโครงการสนับสนุนการจ้างงานในเขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการโครงการสนับสนุนการจ้างงานในเขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) วงเงินโครงการฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท ในการผลักดันให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ และให้สถานประกอบการ ผู้ประกันตน มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และสนับสนุนการจ้างงานให้กับแรงงานในพื้นที่ ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อลดปัญหาการว่างงาน อาชญากรรม ยาเสพติด และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ด้วย

ปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต้องขอบคุณ และได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือเข้าร่วมโครงการแล้ว ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจที่จะขอกู้ ก็ยื่นคำขอได้ที่ธนาคารทั้ง 2 หรือติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 1506 หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดยะลา จปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา สามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงสิ้นปีหน้า วันที่ 31 ธันวาคม 2558

สำหรับการเดินหน้าประเทศไทย ในส่วนของการปฏิรูป ที่ผ่านมานั้น ประเทศหนึ่งในอาเซียน ผมไม่กล่าวนาม เคยยิ่งใหญ่ เคยมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว วันนี้ก็ประสบภาวะเสื่อมถอยเหมือนกัน ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด นำไปสู่การล้มเหลวในการบริหารราชการ ประการแรก คือ การขาดธรรมาภิบาล เล่นพรรคเล่นพวก ขาดสมรรถนะในการบริหารประเทศ หรือสนใจเฉพาะนโยบายที่สร้างคะแนนนิยม ไม่เอาจริงเอาจังกับการวางรากฐากอนาคต ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสื่อมถอย เศรษฐกิจหดตัว มีคนตกงาน เงินเฟ้อ การกู้ยืมเงินไปทำโครงการสำคัญไม่สามารถทำได้ ไม่สร้างรายได้ให้ประเทศ

ปัญหาที่สอง คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม จนทำให้กลายเป็นประเทศที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากนักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ประการที่สาม การปฏิรูปประเทศนั้นขาดความจริงใจ จริงจัง ทำให้ประเทศติดกับดักถาวร สถานการณ์ทุกมิติไม่ได้รับการแก้ไข พัฒนา ทุกอย่างเหมือนเดิม หรือเลวร้ายกว่าเดิม ทำให้ประเทศล้มเหลว วันนี้ก็ต้องมาแก้ไขกันอีก

สำหรับประเทศไทยนั้น ผมคิดว่าเรายังไม่ถึงขั้นนั้น เราก็ต้องรีบดำเนินการหยุดให้ได้ บางอย่างคล้ายคลึง บางอย่างไม่ร้ายแรงเท่า แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่องทุจริตผิดกฎหมาย ถ้าเราปล่อยปละละเลยกันต่อไป ไม่วางแผน ไม่วางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ไม่มีอนาคต ประชาชนยังไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราก็จะเป็นแบบประเทศเหล่านั้น คือเป็น Failed State ไม่ได้รับความเชื่อถือ วันนี้ถ้าเราไม่ทำให้ทุกอย่างมั่นคงแข็งแรง มันจะเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจใหม่ในการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นภัย 2 ด้านนั้น วันนี้เรา คสช. รัฐบาลก็มาดูแล หลังจากมาควบคุมแล้วเราก็ดูแลแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนทำให้เกิดเสถียรภาพ และเตรียมความพร้อมในการที่จะทะยานออกไปในอนาคต วันนี้ก็เหมือนเสือ เสือกำลังย่อตัวอยู่ พร้อมที่จะทะยานออกต่อไปในโอกาสอนาคต เพราะฉะนั้นทุกคนต้องคิดเหมือนกัน คือทำอย่าไรเราจะก้าวไปสู่อนาคตได้ ทำอย่างไรจะมีความพร้อม ทำอย่างไรจะไม่ผิดพลาดอีก นี่คือการปฏิรูปนะครับ หลักการ หลีกเลี่ยงความผิดพลาดบทเรียน 3 ประการที่ผมกล่าวไปแล้ว ทั้งในต่างประเทศก็มี ประเทศเราก็มีอยู่บ้างบางส่วน เกี่ยวข้องกัน

บทเรียนข้อแรกนั้น ทำอย่างไร ในการปฏิรูปต้องระวังการบริหารจัดการให้มีความรอบคอบ มีธรรมาภิบาล การวางแผนต้องยึดหลักวางรากฐานของอนาคต เยาวชนของเรา คนของเราในอนาคตนะครับ อย่าไปทำอะไรฉาบฉวย คำนึงถึงความยั่งยืน ลดความขัดแย้ง อย่าเอาประเทศไปเสี่ยงภัย ไปต่อสู้กัน ไม่สร้างภาระให้ประเทศโดยไม่จำเป็น การพัฒนาต้องยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คือความพอประมาณ คือไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ให้ใครเดือดร้อน มีเหตุผล คือ การตกลงใจใดๆ นั้น ต้องพิจารณาทุกเหตุที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง ทั้งภายในภายนอก ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และความมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือการเตรียมพร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยต้องมีการคาดการณ์อนาคต ประเมินความเสี่ยงไว้ด้วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องมีความรู้และมีคุณธรรมด้วย ในการที่จะเดินหน้าต่อไป

ในบทเรียนข้อที่สอง ก็คือเรื่องของการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องมีหลัก 3 ประการ คือ การพัฒนาอย่างมีวินัย ทุกคนต้องต่อต้านคอร์รัปชัน อย่าสมยอมกัน การยึดหลักคุณธรรม ทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อย่างเท่าเทียม ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ไม่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง เอาจริงเอาจัง ผมก็พยายามเต็มที่นะ ก็ยังมีข่าวมาอยู่เสมอ เพราะงั้นถ้าตรวจสอบพบก็ต้องลงโทษทันที ก็ขอข้อมูลด้วยแล้วกัน เราจะต้องทำให้เห็นผลในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

วันนี้ผมตีเส้นว่า ตั้งแต่ 22 ที่เราเข้ามา จะต้องกระทำผิดอีกไม่ได้ ถ้าทำผิดก็ต้องมาเข้าสู่กระบวนการ ก็ว่าไป เราคงใช้ศาลประชาชนไม่ได้ ก็คงเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเราดำเนินการกับตัวการใหญ่ๆ ก็จะทำให้เป็นเยี่ยงอย่าง ไม่เกิดการเอาเยี่ยงเอาอย่างต่อไป ให้เกิดความเกรงกลัว จะได้มีจิตสำนึกกันเสียบ้าง และมีความละอายในการกระทำความผิดนั้น สังคมก็ต้องปฏิเสธคนเหล่านี้ บางคนโกงแล้วโกงอีกอยู่นั่นแหละ ก็สู้ตามกฎหมาย บางทีก็ชนะนะ เพราะฉะนั้นกฎหมายมันเป็น ..คือเขาเปิดโอกาสให้การต่อสู้ ว่ากันด้วยหลักนิติธรรมนะ ทุกคนก็หาหลักฐานมาสู้กัน บางทีก็ชนะ ชนะไปก็ทำใหม่อีก อย่างนี้ไม่ได้นะ ก็ต้องช่วยกัน สังคมก็ต้องปฏิเสธคนเหล่านี้

บทเรียนที่สามที่เราจะปฏิรูป สำคัญที่สุดก็คือ 5 สาย หรือ 5 ฝ่าย ที่เราทำไว้แล้วปัจจุบัน คือ ครม. คสช. สปช. สนช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผมให้แนวทางไปบ้างแล้ว ขอให้ทั้ง 5 ส่วนนี้ บูรณาการกันให้ดี อย่าสร้างปัญหาใหม่ แล้วทำอะไรออกมาก็ตาม จะร่างอะไรออกมาก็ตาม ต้องได้รับการยอมรับ ผมว่าจะสามารถทำให้ใครยอมรับทั้งหมดคงไม่ได้ แต่จะหาทางลงตัวกันตรงไหน พออกพอใจกันทุกฝ่าย ถ้าทุกฝ่ายต้องการของตัวเองทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ ขอให้คำนึงถึงว่าประเทศชาติจะไปทางไหนในอนาคตนะ เดี๋ยวพอเราเลือกตั้ง จะเลือกตั้งกันยังไง กระบวนการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน ใครจะเข้ามา ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกฯ กระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน การถ่วงดุลอำนาจ 3 อำนาจ ภายใต้พระมหากษัตริย์ อำนาจของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของเราอยู่แล้วในระบอบนี้

เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี่ต้องมาว่ากันทั้งหมด แล้วก็ในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน เหล่านี้ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล และที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แล้วก็ในส่วนที่ต้องมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง การบริหาราชการแผ่นดินต้องมองประชาชนเป็นศูนย์กลางว่า ทำอย่างไรประชาชนจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด เป็นที่เพียงพอ ข้าราชการ ผู้บริหาร ก็ต้องซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือ มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล เท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองประชาชนเป็นที่ตั้ง มันก็สำเร็จหมด

ปัจจัยเสริมอีก 2 ประการ ก็คือ จะทำยังไงเราจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ หาจุดร่วมในการปรองดองได้ไหม ปรองดองก็คือปรองดองนะ วันนี้อยากให้ทุกที่ ทุกหน่วยงาน ทุกพื้นที่ หากิจกรรมมีความปรองดอง เล่นกีฬาด้วยกัน งเพลง อะไรทำนองนี่ะ นี่คือปรองดองนะ ถ้าทุกคนทุกฝ่ายอยากจะปรองดอง ไม่ว่าจะฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ประชาชน พ่อค้า อะไรก็แล้วแต่ ก็ปรองดองกันไป พูดคุย ไม่เคยคุยกัน เคยทะเลาะกัน เคยเห็นต่างกัน ก็มาคุยกัน ก็แค่นั้นปรองดอง ง่ายๆ มันต้องเริ่มที่ใจก่อน ใครมาบังคับท่านก็ไม่ได้ ท่านต้องปรองดอง ถ้าใจท่านไม่ปรองดองแล้วใครบังคับ ก็ไม่ปรองดอง นี่คือสิ่งที่ต้องปรองดอง เริ่มที่ตัวท่านเองก่อน เพราะงั้นผมอยากให้ใช้ 5 ธันวาฯ นี้ วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรองดองกันซะ ทุกพวก แล้วก็หาตรงกลางออกมาให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไร ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ระยะที่เราต้องปฏิรูปใช้เวลาเท่าไร แล้วต่อจากนั้น เลือกตั้งไปแล้วจะต้องปฏิรูปต่อไปยังไง มันต้องเดินต่อ ต้องทำต่อ ไม่งั้นก็เสียเวลาเปล่า

สำหรับการตื่นตัวของประชาชนนั้น วันนี้ผมดีใจนะทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม แล้วก็มีการสื่อสารเข้ามาแล้ว ทุกกลุ่ม ทั้งหมดเรามี 11 กลุ่ม วันนี้ก็ส่งข้อมูลเข้ามาที่สภาปฏิรูปฯ แล้วส่งมาที่รัฐบาลก็มี แล้ววันนี้ผมให้ไปตามเก็บมานะ จากนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ก็มีสรุปมา ผมก็เอามาอ่านดู ก็ดีนะ เป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ แต่เราก็ต้องมาปรับหากันนะ วันนี้ผมขอร้องอย่างเดียวว่า ถ้าเรายังขัดแย้งกัน ต่อต้านกันเรื่องประชาธิปไตยอยู่ มันไปไม่ได้.. ไปไม่ได้เลย ประชาธิปไตยอะไรก็ไปไม่ได้ วันนี้ถ้าเราไม่ต่อต้านกัน ไม่ขัดแย้งกัน พูดคุยกันดีๆ แล้วก็ยอมรับในหลักการซึ่งกันและกัน ภายใต้การปรองดองด้วยหัวใจของพวกเราทุกคน ไม่มาต่อสู้กันอีก ไม่เอาความขัดแย้งมาเกิดขึ้นอีก ไม่ใช้การเมืองมานำประชาชนเป็นพวกเป็นฝ่าย ผมคิดว่าบ้านเราก็ไม่เกิดวิกฤตอีกต่อไป ไม่มีความเสี่ยง เราพร้อมที่จะเดินหน้าประเทศ เราพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เราพร้อมในทุกมิติ แต่เรายังไม่พร้อมในเรื่องของการขจัดความขัดแย้ง แล้วก็การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีระบบธรรมาภิบาล แล้วในเรื่องของการทุจริตผิดกฎหมาย อะไรเหล่านี้ต้องเลิกหมด แต่รัฐบาลปัจจุบัน และ คสช. ไม่ยอมแพ้นะครับ จะไม่ยอมแพ้ ยังมีพลังอยู่ ยังมีกำลังใจอยู่ในการที่จะดำเนินการต่อไปให้ได้ เพื่อจะก้าวให้พ้นกับดักเหล่านี้ให้ได้

เพราะฉะนั้นเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่จะให้คนไทยทุกคนได้ปฏิรูปในทุกมิติ แล้วก็แบ่งการปฏิรูปเป็น 3 ระดับด้วยกัน เร่งด่วน 1 ปี แล้วก็ส่งต่อๆ ไป โดยอาจจะต้องมีองค์กรที่ดูแลในเรื่องนี้ มีกฎหมาย มีอะไรต่างๆ อันนี้ก็คงเป็นหลักการเท่านั้นเอง ผมคิดว่าในสภาปฏิรูปฯ ในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สนช.เขาเก่งอยู่แล้วทุกคน เป็นผู้แทนมาจากหลายส่วน ก็ทำได้แน่นอน

ก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนด้วยนะครับ ให้ความไว้วางใจกับพวกเรา คสช.และรัฐบาล ทุกเรื่องนะเราทำเยอะมาก เยอะ บางทีอาจจะยังไม่มีผล แต่มันอยู่ในขั้นตอน กระบวนการ เขาเรียกว่า กระบวนการ Process ไง มันเยอะนะ จะทำอะไรสั่งอะไร ไม่ใช่สั่งปากเปล่า เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ทันใจ ให้ไปดูจริงๆ ว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง มีทุกอย่าง ทั้งทำเร่งด่วน ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ แล้วก็เตรียมส่งต่อ มีทั้ง 3 อย่าง ไปแยกๆ เอา

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการรับมอบโบราณวัตถุจากอเมริกากลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณสัก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 19 สหรัฐอเมริกาได้ส่งมอบโบราณวัตถุ 554 ชิ้น ก็มากพอสมควร เดิมเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Bowers (บาวเออร์ส) เมืองซานตานา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้กลับมาอยู่ในความครอบครองของเรา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะถูกเคลื่อนย้ายต่อไป ไปเก็บรักษาไว้ ณ คลังกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่กรมศิลปากร ต่อไป

สำหรับโบราณวัตถุส่วนมากเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งเก่าแก่มาก การส่งคืนโบราณวัตถุครั้งนี้ถือว่ามีจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราจะได้มรดกเก่าแก่ล้ำค่าคืนกลับสู่ประเทศไทย เรามีมากมาย แต่กระจัดกระจายไปทั่ว วันหน้าเราต้องเอามา เอามรดกของแผ่นดิน แล้วก็ให้ประชาชนได้ชื่นชม ได้ภูมิใจในความเป็นชาติ ในความเป็นคนไทย ถ้าเราไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์เราเป็นอย่างไร ไม่รู้ความเป็นมาของเรา ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เลย เราก็ไม่ภูมิใจนะ ไม่ภูมิใจในความเป็นคนไทย ก็จะทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันต่อไปอีก ไม่ได้ คนไทยต้องรักกัน

เพราะฉะนั้น ในนามของรัฐบาล ก็ขอขอบคุณรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในเรื่องของความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการแสดงระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศซึ่งเรามีมาเกือบ 200 ปี 2376 – 2557

เรื่องต่อไปเรื่อง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำกลับไปปรับปรุงแก้ไข และก็จะส่งมาให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแก้ไขตามหลักของกฎหมาย

ที่ผ่านมานั้นเราได้มีการเตรียมการเสนอไปแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ทันสมัย เพราะร่างเอาไว้ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อจะแก้ไขปัญหาเรื่องการชุมนุม ขณะนี้การชุมนุมได้เปลี่ยนรูปแบบไปอีกแล้ว เราก็ต้องพัฒนาให้ตรงไปตามรูปแบบเหล่านั้น ก็ต้องขอร้องรัฐบาลทุกรัฐบาลนะครับ ความมุ่งหมายของ พ.ร.บ.นี้ก็เพื่อจะดูแล ดูแลทั้งผู้ชุมนุม ดูแลประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม แล้วก็ในเรื่องของการคุ้มครองสถานที่ สถานที่ราชการ ในการออกกฎหมายนี้เราใช้มาตรฐานเดียวกัน อย่ามาคิดว่าเราทำเพื่อรัฐบาลผม อะไรอย่างนี้ ทำเพื่อทุกรัฐบาลนั่นแหละในอนาคตนะ ใช้มาตรฐานเดียวกับกฎหมายต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เกาหลี ขณะเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องกำหนดรูปแบบการชุมนุม เช่น การชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน การชุมนุมทางการเมือง จะทำยังไง ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือจะทำยังไง

กฎหมายเหล่านี้หรือกฎหมายเรื่องนี้นั้นวัตถุประสงค์คือคุ้มครองนะครับ ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้ไม่เดือดร้อน ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ถูกละเมิดสิทธิพื้นฐาน แล้วก็คุ้มครองเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย คือไม่อยากใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็ลำบากใจนะ เวลาทำ แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ เป็นกฎหมาย พอทำแล้วก็ไม่อยากใช้ความรุนแรง ไม่ต้องการใช้อาวุธ ใช้อะไรสักอย่างเลย แต่ก็ต้องระมัดระวัง สำหรับผู้ที่ชุมนุมแล้วเอาอาวุธมาด้วย ก็ยังมีหลายคดีอยู่ในศาล ในกระทรวงยุติธรรม ที่ผ่านมามีหลายคนอยู่ เพราะงั้นต่อไปต้องไม่มี ต้องไม่เกิดขึ้น เห็นใจเจ้าหน้าที่บ้างนะครับ ลำบากนะ ไม่ทำก็ไม่ได้ ถูกสั่งมาก็ต้องปฏิบัติ แล้วเมื่อมีการใช้อาวุธจะทำยังไง เจ้าหน้าที่จะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ให้ปลอดภัย ช่วยกันคิดหน่อย ช่วยกันคิด แล้วก็ไปแปรญัตติกันเข้ามา เสนอเข้าไปใน สนช.ก็ได้ ว่าอยากจะทำยังไง แต่ไม่มีไม่ได้ พ.ร.บ.เหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดความเป็นสากลด้วย ไม่งั้นวันหน้าก็เกิดอีก ทุกเรื่อง ผมไม่อยากให้การทำงานของพวกเรา ความยากลำบากของพวกเรา แล้วก็ประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ทำให้คนไทยต้องถอยหลังกลับไปติดหล่ม หรือติดกับดักเหมือนเดิมอีก ต้องขอร้องกันนะครับ ขอความร่วมมือ ผมพยายามที่จะปรับการทำงานของรัฐบาลอยู่เสมอ แม้ตัวผมเองผมก็ปรับอยู่นะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งสิ้นทั้งปวง

สำหรับวันนี้แต่งชุดเรียบร้อย เพราะมีกิจการ มีงานหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติ ทั้งเป็นราชการด้วยอะไรด้วย วันๆ ก็แก้ปัญหาหลายอย่างอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นไร ทำเพื่อพ่อแม่พี่น้องคนไทยทุกคน เพื่ออนาคตของพวกเรา "ความรู้คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต" นะครับ สวัสดีครับ.. ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น