xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.สั่ง สสจ.ทั่วประเทศเฝ้าระวังการระบาดไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงรายงานของสำนักระบาดวิทยาถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม - 8 กรกฎาคม 2557 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 11,881 ราย เสียชีวิต 13 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 25 เสียชีวิต 13 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี ภาคกลางพบผู้ป่วยสูงสุด 4,698 รายเสียชีวิต 6 ราย รองลงมาภาคใต้ ป่วย3,404 ราย เสียชีวิต 6 รายภาคเหนือ ป่วย 1,953 ราย เสียชีวิต 1 รายและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่วย 1,826 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงจากปี 2556 ในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 80 ก็ยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการระบาดของโรคทุกปี หากการป้องกันควบคุมโรคไม่ดี
ทั้งนี้ จึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคโดยใช้มาตรการหลัก ได้แก่ เฝ้าระวังยุงพาหะ โดยกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง การเฝ้าระวังเชื้อในยุง คือการกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อ เมื่อมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ต้องพ่นหมอกควันและสารเคมีกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อที่บริเวณโดยรอบรัศมี 100 เมตร
ส่วนการเฝ้าระวังในคน คือการป้องกันไม่ให้เชื้อที่มีอยู่แพร่กระจายไปสู่คนอื่น โดยใช้ยาทากันยุงทาให้กับผู้ป่วยทุกราย ไม่ให้ยุงลายมากัดแล้วนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น และสร้างพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชนไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง จัดบ้านให้ปลอดโปร่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ทุกคนยังคงเข้าใจว่ามีเฉพาะยุงลายบ้านที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่ายุงลายสวน ก็เป็นพาหะนำโรคได้ ที่สำคัญคือยุงลายสวน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในป่าสวน เพาะพันธุ์ตามต้นไม้ใบไม้ ตอไม้ที่มีน้ำฝนมาตกค้างอยู่ มีแหล่งเพาะพันธุ์กระจายอยู่ในวงกว้าง ทำให้ปริมาณยุงมีความชุกชุมมีมากกว่ายุงลายบ้านมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับการกำจัดยุงลายสวนควบคู่ไปกับยุงลายบ้านด้วย โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่มีปริมาณฝนตกชุก มีฤดูฝนยาวนานกว่าภาคอื่นๆ และสภาพภูมิประเทศเป็นป่า หรือสวน เหมาะต่อการเพาพันธุ์ยุง
กำลังโหลดความคิดเห็น