xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการระดมสมองแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประยงค์ ดอกลำไย นักวิชาการ ได้นำเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 1 เรื่อง "แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง" ภายใต้หัวข้อ "นโยบายที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม" ว่า ส่วนใหญ่ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย คือไม่มีที่ดินทำกิน ขณะที่คนที่มีฐานะร่ำรวยกลับถือครองที่ดินสูงสุดเฉลี่ยรายละ 600,000 ไร่ จึงจำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบภาษีที่ดิน ระบบธนาคารที่ดิน และกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย นักวิชาการ ได้นำเสนอภายใต้หัวข้อ "(ร่าง) พระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานไทย" ว่า กฎหมายประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเข้ารับการรักษาพยาบาล จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและยกระดับให้กฎหมายประกันสุขภาพเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น กฎหมายแรงงาน
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนควรได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการตั้งกองทุนในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ ส่วนบริการทางการแพทย์ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขจำกัดจำนวนวันและโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์เข้ารับการรักษาพยาบาล ขณะที่คณะกรรมการในระบบประกันสังคมควรเลือกตั้งให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ขณะที่นางสุวัฒนา ศรีภิรมย์ นักวิชาการ ได้นำเสนอภายใต้หัวข้อ "พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554" ว่า กองทุนการออมแห่งชาติ ได้จัดตั้งขึ้นมานานแล้ว แต่กลับพบว่าเกิดปัญหาว่างงานสูงขึ้น ดังนั้น ภาครัฐ ต้องให้ความสำคัญควบคู่การดูแลในรูปแบบนำเงินมาสมทบกองทุนให้มีความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ว่างงานกับผู้มีอาชีพ
ด้านนายวันชัย บุญประชา นักวิชาการ ได้นำเสนอภายใต้หัวข้อ "กองทุนสลากกินแบ่ง เพื่อสังคมเข้มแข็ง" ว่า ปัจจุบันกองทุนสลากกินแบ่งมีวงเงินสูงถึง 14,000 ล้านบาท มองว่าควรนำมาสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในด้านต่างๆ ของสังคม เช่น ตั้งกองทุนการศึกษาช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ตั้งกองทุนพัฒนาภาคประชาชน ด้วยการปฏิรูปการคลังเพื่อสังคมที่มีกฎหมายรองรับ
สำหรับการรวบรวมความคิดเห็นในครั้งนี้ กปปส.ได้นำเทคโนโลยีโหวตติ้งซิสเต็ม (Voting System) มาใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ด้วยการประมวลผลเลือกหัวข้อที่น่าสนใจ เพื่อป้องกันการล็อกหัวข้อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงใช้เครื่องโหวตประมวลผล (ลงคะแนน) ซึ่งเป็นเครื่องมือนิยมใช้ทำวิจัยในต่างประเทศและรายการโทรทัศน์ที่เน้นผลลงคะแนนด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้ ได้เริ่มทดลองใช้ในวันนี้ครั้งแรกในการสุ่มตัวอย่างประชาชนจำนวน 20 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น