xs
xsm
sm
md
lg

เอแบคโพลล์เผย ปชช.กว่าร้อยละ 70 ระบุสื่อมีส่วนชี้นำการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "ผลกระทบของการนำเสนอข่าว ช่วงเวลาเด่น และสื่อธุรกิจ ภาพเซ็กซี่ต่อความรู้สึกของเด็กและเยาวชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,205 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 74.0 คิดว่าสื่อในปัจจุบันมีส่วนในการชี้นำทางการเมือง มีเพียงร้อยละ 26.0 คิดว่าไม่ชี้นำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสื่อดั้งเดิมและสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52.8 ระบุทีวีเป็นสื่อดั้งเดิมในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด รองลงมาคือ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ตามลำดับ ส่วนสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด หรือร้อยละ 21.7 ได้แก่ เฟซบุ๊ก รองลงมาคือ ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด เว็บไซต์ อีเมล์ และไลน์ ตามลำดับ
สำหรับประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 เคยพบเห็นข่าวฆาตกรรม การสังหารโหด ผ่านรายการโทรทัศน์ข่าวทีวีช่วงเวลาเด่นในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และกิจกรรมที่กำลังทำขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดผ่านข่าวทีวี ช่วงเวลาเด่น อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 44.3 ระบุพักผ่อน อันดับสอง ได้แก่ ร้อยละ 31.8 ระบุทานอาหาร และอันดับสามหรือร้อยละ 30.3 ได้แก่ ทำงาน ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างระบุมีกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50.5 ที่กำลังอยู่ด้วยกันขณะดูข่าวฆาตกรรมการ สังหารโหดของผู้คนในสังคม ผ่านข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และจากการสังเกต พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับชมข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดของผู้คนในสังคมอยู่ด้วยนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 มีอาการตกใจ รองลงมา ร้อยละ 14.5 ฝังใจกับข่าวนั้นๆ ร้อยละ 13.4 ร้องไห้ ส่วนอาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นคือ มีการใช้คำพูดรุนแรง และมีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 61.4 เห็นด้วยว่า สื่อมวลชนควรลดการนำเสนอ "ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพการสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม" ในรายการข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 85.6 ระบุว่ามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
กำลังโหลดความคิดเห็น