xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก กอ.รมน.ภ.4 สน.ย้ำประกาศเคอร์ฟิวต้องพิจารณารอบด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภ.4 สน.กล่าวถึงการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จริงๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เคยมีการประกาศเคอร์ฟิวมาแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 คือในปี 2550 เคยมีการประกาศใช้มาแล้วใน 2 อำเภอ คือ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา ของ จ.ยะลา ต่อมามีการประกาศยกเลิกการใช้เคอร์ฟิวเมื่อปี 2552 รวมระยะเวลาการใช้ประมาณ 2 ปีเศษ ซึ่งมาตรการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการใช้แค่บางเรื่อง และเรื่องของการเคอร์ฟิวก็เช่นเดียวกัน เป็นมาตรการหนึ่งซึ่งมีกำหนดไว้ในกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น ถ้าเป็นกฎอัยการศึก ถูกระบุไว้ในมาตรา 11 (6) ซึ่งให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหารในการใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ต่างๆ เช่น เรื่องของการห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เช่นเดียวกัน มาตรา 9 (1) ก็ได้มีการระบุ ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด หรือมาตรา 9 (4) และเรื่องของการใช้ยานพาหนะและการคมนาคม ซึ่งการประกาศใช้เคอร์ฟิวขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของนโยบาย และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) จะมีการวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในพื้นที่หรือไม่ อย่างไร
โฆษก กอ.รมน.ภ.4 สน.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ หากรัฐบาลพยายามที่จะหามาตรการต่างๆ ที่ทำให้พี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งหากทางกลุ่มคนร้ายพยายามจะสร้างสถานการณ์ความรุนแรงต่อเนื่องในบางพื้นที่ มาตรการเคอร์ฟิวก็อาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอย่างรอบด้านของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ก็จะทราบผล
กำลังโหลดความคิดเห็น