xs
xsm
sm
md
lg

สปส.เริ่มจ่ายเงินชราภาพปี 57 เร่งหาข้อสรุปอัตราที่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส. กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนานครบ 15 ปี ซึ่งสปส.จะเริ่มจ่ายเงินดังกล่าวเป็นปีแรกในปี 2557 ว่า สำหรับผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนั้น กฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้ว่า จะต้องรับเงินชราภาพเป็นเงินบำนาญเท่านั้น ไม่สามารถรับเป็นเงินบำเหน็จได้ โดยจะต้องรับเป็นเงินบำนาญตลอดชีวิต
ส่วนกรณีผู้ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมานาน 15 ปี แต่อายุไม่ถึง 55 ปี ให้มารับเงินชราภาพได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี แต่มีอายุครบ 55 ปีแล้ว ก็สามารถมารับเงินชราภาพได้เช่นกัน และหากผู้ประกันตนเสียชีวิต เงินบำนาญชราภาพจะตกเป็นของลูกหลานผู้ประกันตน
ทั้งนี้ สปส.กำลังศึกษาอยู่ว่าการจ่ายเงินบำนาญชราภาพในอัตราเท่าใดจะเหมาะสมกับฐานเงินเดือนของผู้ประกันตน ซึ่งมีฐานเงินเดือนอยู่ในระดับที่ต่างกัน โดยจะต้องกำหนดให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบันด้วย
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2557 สปส.ประมาณการว่าจะมีผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 5,000 คน รวมเป็นเงินประมาณ 90 ล้านบาท และรับเงินบำเหน็จชราภาพประมาณ 120,000 คน เป็นเงินจำนวน 8,000 ล้านบาท รวมแล้วใช้เงินกว่า 8,090 ล้านบาท โดยสถานะเงินกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันมีเงินสะสมจำนวน 946,376 ล้านบาท
ด้าน น.พ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) กล่าวว่า จากการคำนวณเบื้องต้นในการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ พบว่าผู้ประกันตนที่มีอัตราเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญประมาณเดือนละ 1,800 บาท ส่วนผู้ที่มีอัตราเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญประมาณเดือนละ 3,000 บาท
น.พ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีรายได้อยู่ในอัตราต่ำสุด คือไม่เกินเดือนละ 1,650 บาท และนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 83 บาท จำนวนกว่า 100,000 คน ทำให้จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพียงเดือนละ 600 บาทต่อคนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่น้อย
ขณะนี้ สปส.จึงกำลังไปศึกษาการปรับเพดานขั้นต่ำในการจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยเห็นว่าควรกำหนดให้สูงกว่าอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐบาลจ่ายให้เดือนละ 600 บาท ซึ่ง สปส.ต้องศึกษารายละเอียดต่อไปว่าจ่ายเงินบำนาญในอัตราเท่าใดจึงจะเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น