xs
xsm
sm
md
lg

"ปัญญา-ประยุทธ์"ติด 1 ใน 10 สุดยอด CEO ปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นพดล กรรณิการ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง 10 รายชื่อสุดยอด ซีอีโอ ภาครัฐและเอกชนแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี กรณีศึกษาตัวแทนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 17 จังหวัดของประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างตัวแทนจากฐานข้อมูลบริษัทกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพมหานคร แพร่ ลำปาง เพชรบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี เป็นต้น จำนวนทั้งสิ้น 1,362 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2554-2 มกราคม 2555 พบว่า
สุดยอดซีอีโอของภาคเอกชนแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจตัวแทนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นายปัญญา นิรันทร์กุล ร้อยละ 90.3 โดยให้เหตุผลว่าเป็นสุดยอดผู้คิดสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงเกมโชว์ รองลงมาคือ นายตัน ภาสกรนที ร้อยละ 77.4 เพราะเป็นสุดยอดนักสู้ทางธุรกิจ ด้วยสโลแกน ตันไม่ตัน อันดับ 3 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ร้อยละ 75.8 เพราะเป็นสุดยอดผู้นำพิธีกรเล่าข่าวผู้ปฏิรูปวงการเล่าข่าวสู่การเป็นที่พึ่งของประชาชน อันดับ 4 นายประวิทย์ มาลีนนท์ ร้อยละ 68.4 และนายโชค บูลกุล ร้อยละ 61.9
ขณะที่สุดยอดซีอีโอของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554 ในความทรงจำและขวัญใจตัวแทนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ร้อยละ 59.1 เพราะเป็นสุดยอดผู้นำกล้าคิดกล้าตัดสินใจ รองลงมา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 53.4 เพราะเป็นสุดยอดของตำรวจมือปราบยาเสพติด อันดับ 3 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร้อยละ 53 เพราะเป็นสุดยอดผู้นำหัวใจแกร่ง กล้าหาญ อันดับ 4 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 49.1 เพราะเป็นสุดยอดด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และอันดับ 5 นายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้อยละ 44.5
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นค่อนข้างอย่างชัดเจนว่า กลุ่มซีอีโอในภาคเอกชนของประเทศไทยเป็นคณะบุคคลตัวอย่างที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่างแสดงให้นานาชาติประเทศที่พัฒนาแล้วเห็นได้ว่า ภาคเอกชนของประเทศไทยเป็นภาคส่วนรากฐานทางเศรษฐกิจที่มักประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองท่ามกลางความเสี่ยงสูงของความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงของคนในชาติ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ความไม่มั่นคงของเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลที่มักมีอายุการทำงานไม่ยาวมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น