xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเรียกร้องรัฐตั้งศูนย์เตือนภัยผลกระทบทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนาวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการมูลนิธิ ดร.สุรพล สุดารา ตัวแทนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์เตือนภัยผลกระทบจากน้ำจืดไหลลงสู่ทะเล หลังจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลให้ปริมาณน้ำจืดมหาศาลไหลลงสู่ทะเล และเกิดปรากฎการณ์แพลงตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลเน่าเสีย และอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปราณบุรี ก่อนระดมเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่าง ประเมินผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
ขณะที่ นายมิคมินทร์ จารุจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและฝั่งชายเลน สั่งตั้งสถานีวัดคุณภาพน้ำตามแนวอ่าวไทย จำนวน 50 จุด เพื่อประเมินความเสียหาย พร้อมเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทะเล โดยเฉพาะ หอยแครง หอยลาย เก็บผลผลิตเร็วกว่ากำหนด
ในวงเสวนา นักวิจัยบางรายหยิบยกบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปูม้าหายไปจาก จ.สุราษฎร์ธานี นานกว่า 5 เดือน
ส่วนวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้มีมวลน้ำจืดสูงมาก จึงอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล อย่างปลาโลมาอิรวดี ปลาวาฬบรูด้า อาจจะย้ายถิ่นได้ ส่วนสัตว์เศรษฐกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร ที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ปลาทู ปลากระบอก ปลากระตัก กุ้งทะเล และหมึกทะเล เป็นต้น
ล่าสุด นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนวคิดจัดเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างที่จะสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ หรือสร้างขวางทางระบาย ในอัตราร้อยละ 20-30
กำลังโหลดความคิดเห็น